ปอพราน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปอพราน 5 ข้อ !

ปอพราน

ปอพราน ชื่อวิทยาศาสตร์ Colona auriculata (Desf.) Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Diplophractum auriculatum Desf.)[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย GREWIOIDEAE

สมุนไพรปอพราน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอพาน (เชียงใหม่), ปอปาน ปอพราน (นครราชสีมา), ปอที (อุบลราชธานี), ปอขี้ตุ่น (อุตรดิตถ์), ขี้หมาแห้ง (สุโขทัย), ปอพราน (จันทบุรี) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของปอพราน

  • ต้นปอพราน จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา ทุกส่วนมีขนยาวขึ้นปกคลุม มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วทุกภาค ตามที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ชายป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือตามที่รกร้างทั่วไป ที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]

ต้นปอพราน

  • ใบปอพราน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบเบี้ยวและเป็นรูปติ่งหู ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยซ้อนกันสองชั้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ใบออกใกล้กันจนขอบใบซ้อนกัน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนสาก ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น เส้นใบที่โคน 3 เส้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-7 เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได และเส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแหชัดเจนทางด้านบน ก้านใบมีขน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นรูปรีถึงรูปสามเหลี่ยม แคบยาว โคนหูใบแผ่เป็นแผ่นรูปทรงกลม แต่ละด้านนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ติดทน[1]

ใบพอปราน

  • ดอกปอพราน ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบ ห้อยลงใต้กิ่ง ช่อยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่ละกระจุกมีดอกประมาณ 1-3 ดอก ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม ผิวด้านนอกเป็นสีเหลืองและมีขนหนาแน่น ส่วนด้านในจะมีขนบางกว่าและเป็นสีเหลือง มีจุดเล็กสีแดงประปราย โดยกลีบเลี้ยงจะแยกจากกันอย่างอิสระ ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ แยกจากกันอย่างอิสระเช่นกัน กลีบดอกจะเป็นสีเหลืองสด มีจุดประสีส้มแกมน้ำตาล ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปช้อน ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร มีขนปกคลุมยาว เป็นมัน และยังมีใบประดับย่อยอีก 3 ใบ ลักษณะเป็นรูปส้อม สีเหลืองอ่อน และมีสีแดงตามแนวเส้นท่อลำเลียง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยงเป็นสีขาวอมเหลือง อับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนขึ้นหนาแน่น มีช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลประมาณ 2-4 เมล็ด ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน[1]

ดอกตูมปอพราน

ดอกปอพราน

  • ผลปอพราน ผลมีลักษณะกลม รูปรีเกือบกลม หรือเป็นรูปไข่ มีครีบเป็นสันตามยาว 5 ครีบ สันกว้างกว่า ½ ของส่วนกลางผล และมีขนขึ้นหนาแน่น ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว ผลแก่จะไม่แตก จะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[3]

ปอพาน

ผลปอพราน

สรรพคุณของปอพราน

  • ที่ประเทศลาวจะใช้ทั้งต้นปอพราน นำมาต้มเป็นยารักษาโรคบิด แก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[1]
  • ยาพื้นบ้านจะใช้ผลปอพราน นำไปผสมกับเหง้าดองดึงและเปลือกต้นตูมกาขาว คลุกข้าวทำเป็นยาสำหรับเบื่อสุนัข (ผล)[1]

ประโยชน์ของปอพราน

  • เส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นสามารถนำไปใช้ทำเป็นเชือกที่มีคุณภาพดี[1] รวมไปถึงเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยอีกด้วย[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ปอพราน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [25 ก.ย. 2015].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ปอพราน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [25 ก.ย. 2015].
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ปอพราน”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [25 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (Hai Le), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด