ปอดอักเสบ (ปอดบวม) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคปอดอักเสบ 5 วิธี !!

ปอดอักเสบ

ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด* ซึ่งประกอบไปด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งจัดเป็นภาวะร้ายแรงและผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฯลฯ อย่างไรก็ตามถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่มก็มีทางเยียวยารักษาให้หายได้

ปอดอักเสบ (Pneumonitisนิวโมนิติส) เป็นคำทั่วไปที่หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ในขณะที่ปอดบวม (Pneumoniaนิวโมเนีย) เป็นประเภทของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของปอด โรคปอดอักเสบและปอดบวมจึงมีความหมายคล้ายคลึงกันมากจนใช้เรียกแทนกันได้ แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกโรคปอดอักเสบมากกว่าเพราะมีความหมายตรงกว่า

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปและคนทุกวัย มีโอกาสพบได้มากขึ้นในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พบได้ประมาณ 8-10% ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบหายใจ และนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ (พบได้เป็นส่วนใหญ่) และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจึงมีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคในลักษณะแตกต่างกันไป และบางครั้งอาจพบปอดอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ด้วย

pneumonia คือ
ปอดอักเสบ

หมายเหตุ : ปอด (Lung) เป็นอวัยวะในระบบการหายใจที่อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะเป็นเนื้อหยุ่น ๆ มีสีออกชมพู มีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป คือ ในช่วงที่เราหายใจเข้าปอดจะทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกาย และในขณะเดียวกันปอดก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกมากับลมหายใจ ปกติเนื้อปอดนี้จะเป็นอวัยวะที่ปราศจากเชื้อโรค เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าไปถึงเนื้อปอด จะส่งผลให้เนื้อปอดมีการอักเสบและมีการบวมเกิดขึ้น แต่ในคนที่มีสุขภาพดีร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดีที่จะช่วยขจัดเชื้อโรคและของเสียในทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดลง หากปอดติดเชื้อก็จะเกิดปอดอักเสบหรือปอดบวมได้ง่ายขึ้น และหากเกิดปอดอักเสบแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่ายอีกด้วย

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

  • สาเหตุ : ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ (โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย) มีเพียงส่วนน้อยเกิดจากสารเคมี ซึ่งการติดเชื้อที่สำคัญ มีดังนี้
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย ได้แก่ เชื้อปอดบวม ที่มีชื่อว่า “สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumoniae) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “นิวโมค็อกคัส” (Pneumococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรงปอดบวมเกิดจาก
      • นอกจากนี้อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เช่น สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดร้ายแรง พบได้บ่อยในผู้ที่ฉีดยาเสพติดด้วยเข็มที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อและอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่, เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) ซึ่งทำให้เป็นปอดอักเสบชนิดร้ายแรงในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด, ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในทารกและผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, เชื้อลีเจียนเนลลา (Legionella) ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปตามระบบปรับอากาศ เช่น โรงพยาบาล ห้องพักในโรงแรม เป็นต้น, เชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) ที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว, เชื้อเมลิออยโดซิส (Melioidosis) ซึ่งพบได้บ่อยมากทางภาคอีสาน, เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มบี (group B streptococcus), เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis), กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน-แอนแอโรบส์ (Anaerobes) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปอดอักเสบจากการสำลัก เป็นต้น
    • การติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งเป็นเชื้อคล้ายแบคทีเรียแต่ไม่มีผนังเซลล์ จัดว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างเชื้อไวรัสกับแบคทีเรีย มักทำให้เกิดปอดอักเสบที่มีอาการไม่ชัดเจน ทำให้มีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อย คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการหอบรุนแรง การตรวจฟังปอดในระยะแรกมักไม่พบเสียงผิดปกติ มักพบได้ในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ถ้าพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรง และบางครั้งอาจพบมีการระบาดได้
    • การติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), ไวรัสหัด (Measles virus), อีสุกอีใส-งูสวัด (Varicella-Zoster virus – VZV), ไวรัสเริม (Herpes simplex virus – HSV), ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV), ไวรัสค็อกแซกกี (Coxsackie virus), ไวรัสซาร์ส (SARS coronavirus) เป็นต้น
    • การติดเชื้อรา ที่สำคัญได้แก่ นิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jiroveci pneumonia – PCP) ซึ่งเป็นสาเหตุของปอดอักเสบในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus), บลาสโตมัยเซส เดอร์มาไตติดิส (Blastomyces dermatitidis), ค็อกซิดิออยเดส อิมมิติส (Coccidioides immitis), คริปโตค็อกโคซิส (Cryptococcosis), ฮิสโตพลาสมา แคปซูเลทัม (Histoplasma capsulatum) เป็นต้น
  • เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ : ที่พบบ่อยตามกลุ่มอายุมีดังนี้
    • เด็กแรกเกิด – 3 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), เชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มบี (group B streptococcus), เชื้อคลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis)
    • อายุ 3 เดือน – 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV), เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) และเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae)
    • อายุมากกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae), เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) อาจพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV) หรือเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae)
  • กลุ่มเสี่ยง : ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่
    • อายุ ในทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เพราะร่างกายมีความบกพร่องในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค (ในผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบได้สูงมาก เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตได้สูงถึง 50%)
    • การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาเคมีบำบัดเป็นประจำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคและการกำจัดเชื้อโรค
    • การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง ฟันผุ เหงือกเป็นหนอง ฯลฯ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย เป็นต้น
    • การไม่รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การขาดสารอาหาร การมีสุขภาพทรุดโทรม การอยู่อาศัยในสถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศดีพอ การอยู่ที่ที่มีมลภาวะที่ต้องหายใจและสูดเอามลภาวะนั้นเข้าไปในปอด
  • การติดต่อ : เชื้อโรคและสารก่อโรคสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยทางใดทางหนึ่ง ดังนี้
    • การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยการสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก (จากการไอหรือจามใส่) หรือเชื้อที่อยู่เป็นปกติวิสัย (Normal flora) ในช่องปากและคอหอยลงไปในปอด เช่น สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน-แอนแอโรบส์ (Anaerobes) เป็นต้น
    • การสำลัก เป็นกรณีที่เกิดจากการสำลักเอาน้ำและสิ่งปนเปื้อน (ในผู้ป่วยจมน้ำ), น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน, สารเคมี (เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน) หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด ซึ่งมักพบได้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต ลมชัก หมดสติ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด จึงทำให้ปอดอักเสบจากการระคายเคืองของสารเคมีหรือการติดเชื้อ เรียกว่า “ปอดอักเสบจากการสำลัก” (Aspiration Pneumonia) ซึ่งการอักเสบนอกจากจะเกิดจากสารระคายเคืองแล้ว ยังอาจเกิดจากเชื้อโรคที่มีอยู่ในช่องปากและคอหอยที่ถูกสำลักลงไปในปอดด้วย (ปอดอักเสบที่เกิดจากการสำลักมักเป็นที่ปอดข้างขวามากกว่าข้างซ้าย เนื่องจากหลอดลมข้างขวาหักมุมน้อยกว่าข้างซ้าย)
    • การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ได้แก่ การฉีดยาหรือให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการแปดเปื้อนเชื้อ, การใส่สายสวนปัสสาวะหรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด หรือการติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น สครับไทฟัส, เล็ปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู), ภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น แล้วทำให้เชื้อแพร่จากอวัยวะส่วนอื่นที่มีการติดเชื้อเข้าไปตามกระแสเลือด
    • การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะใกล้ปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด
    • การแพร่เชื้อจากมือของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งสามารถแพร่ไปยังอีกคนหนึ่งได้ทางมือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด จึงทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้
    • การทำหัตถการบางอย่าง เช่น การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy), การใช้เครื่องมือช่วยหายใจหรือเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอดที่มีเชื้อปนเปื้อน
    • การได้รับเชื้อผ่านทางละอองฝอยของอุปกรณ์ Nebulizer ที่ไม่สะอาด หรือมีน้ำขังอยู่ในท่อของเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเชื้อที่สะสมอยู่จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างก็สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้
    • มีบางครั้ง (แต่น้อยมาก) ที่เชื้อเข้าสู่ปอดได้โดยตรงจากการถูกวัตถุมีคมแทงเข้าปอด
  • ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการ) : ไม่แน่ชัดขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1-3 วัน หรืออาจนาน 1-4 สัปดาห์
  • ระยะติดต่อ : สามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเสมหะจากปากและจมูกจะมีเชื้อไม่รุนแรงและมีปริมาณไม่มากพอ ส่วนเด็กที่เป็นพาหะของเชื้อโดยไม่แสดงอาการซึ่งพบได้ในสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

โรคนี้บางครั้งอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่, ทอนซิลอักเสบ, หัด, อีสุกอีใส, มือเท้าปาก, ไอกรน, ครู้ป, หลอดลมอักเสบ, หลอดลมพอง, หลอดลมฝอยอักเสบ และโรคติดเชื้อของระบบอื่น ๆ ได้ (เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส โรคฉี่หนู เป็นต้น) เพราะฉะนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้จึงมีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบได้ด้วย

อาการของโรคปอดอักเสบ

  • ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย เป็นสำคัญ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทุพพลภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและสื่อสารได้จำกัด เช่น ในผู้สูงอายุอาจมีเพียงไข้หรือตัวอุ่น ๆ และซึมลงเท่านั้น อาจมีอาการไอเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการไอ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรงพอที่จะไอได้ ซึ่งแพทย์จะให้ความสนใจและสงสัยผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการอาจแสดงไม่ชัดเจน
    • อาการไข้ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจมีลักษณะไอเป็นพัก ๆ หรือมีไข้ตัวร้อนตลอดเวลา บางรายก่อนมีไข้ขึ้น (อาจมีอาการหนาวสั่นมาก ซึ่งมักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงแรก ๆ)
    • อาการไอ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ แล้วต่อมาจะมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือบางรายอาจเป็นสีสนิมเหล็กหรือมีเลือดปน
    • อาการเจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก แบบเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าหรือเวลาที่ไอแรง ๆ ตรงบริเวณที่มีการอักเสบของปอด ซึ่งบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง แล้วต่อมาจะมีอาการหายใจหอบเร็ว
    • อาการหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียว ส่วนในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน
  • ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือโรคหวัดนำก่อน แล้วจึงมีอาการไอและหายใจหอบตามมา โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ร่วมด้วย
  • ในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
  • ในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้
  • ในเด็กเล็กที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วมากกว่า 30-40 ครั้ง/นาที (ในเด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที, อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที, อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว) และภาวะขาดน้ำ
  • ในรายที่เป็นปอดอักเสบจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออื่น ๆ จะมีอาการของโรคติดเชื้อนั้น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หัด, อีสุกอีใส, ไอกรน, สครับไทฟัส, โรคฉี่หนู เป็นต้น

pneumonia พยาธิสภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดอักเสบ

  • อาจทำให้เป็นฝีในปอด (Lung abscess), ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion), ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Empyema), หลอดลมพอง (Bronchiectasis), ปอดแฟบ (Atelectasis)
  • เชื้ออาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ (Septicemia/Bacteremia), สมองอักเสบ (Encephalitis) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis), เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis), เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), เยื่อหุ้มช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), ข้ออักเสบติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน (Acute pyogenic arthritis)
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome), ภาวะการหายใจล้มเหลว (Respiratory failure), ภาวะไตวาย (Renal failure), ภาวะช็อกจากโรคติดเชื้อ (Septic shock)

อันตรายจากโรคปอดอักเสบ

อันตรายจากโรคนี้จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นหรือไม่ และในกรณีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลายกลุ่ม ก็ย่อมมีอันตรายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และขึ้นอยู่กับว่าปอดอักเสบที่เป็นนั้นรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญและมีผลต่อการรักษา เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อเกิดปอดอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกลับไปรับประทานเองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ถ้าโรคนี้เกิดกับผู้สูงอายุหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้วก็มักจะมีอาการแทรกซ้อนตามมาและอาจต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หรือยิ่งไปกว่านั้น ถ้าผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ไม่มีการควบคุมให้ดีมาก่อน หรือมีโรคไตเรื้อรัง มาพบแพทย์ล่าช้า อาการแทรกซ้อนนั้นก็จะมากขึ้นตามส่วน ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต และอาจต้องรับตัวไว้ในห้องไอซียู (ICU) แทนที่จะรักษาในห้องพักผู้ป่วยทั่วไป

สรุป อันตรายจากปอดอักเสบและการมีภาวะแทรกซ้อนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และความรุนแรงของโรคปอดอักเสบว่าเป็นมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการไม่รักษาสุขภาพ การมีโรคประจำตัว การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานยาที่มีผลกระทบต่อภูมิต้านทานโรค ฯลฯ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ

ระดับความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ

ความรุนแรงของโรคนี้อาจมีเพียงเล็กน้อยหรือถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ โดยสามารถแยกได้เป็นกรณีดังนี้

  • อาการรุนแรงเพียงเล็กน้อย ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ป่วยไม่หนัก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยประเภทนี้มักเป็นผู้ป่วยที่มีอายุไม่มาก มีสุขภาพและอนามัยดีอยู่ก่อนแล้ว
  • อาการรุนแรงปานกลาง เช่น ในผู้ป่วยสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำ ไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ และมาพบแพทย์หลังจากมีอาการได้หลายวันแล้ว ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการหอบเหนื่อยกว่าปกติและเบื่ออาหาร จึงจำเป็นต้องให้ออกซิเจนและให้สารน้ำทางหลอดเลือดหากรับประทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอ และหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น อาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาลง ไม่มีไข้ และผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้และรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอก แต่ถ้าเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่ไม่รักษาสุขภาพและอนามัย ไม่ได้มาพบแพทย์ และไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่แรก จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือด หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาลง ไม่มีไข้ และผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แพทย์อาจอนุญาตให้กลับบ้านได้และรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอกเช่นกัน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตต่ำ ก็จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดนานขึ้น และหากยังเบื่ออาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร หรือหากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิม การให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ อาจต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมและช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
  • อาการรุนแรง จะเป็นการรักษาต่อเนื่องจากการรักษาข้างต้น เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน และมีโรคหัวใจ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ผลการวินิจฉัยมักพบว่าเป็นปอดบวมและมีน้ำท่วมปอด การรักษาในกรณีนี้นอกจากต้องรับไว้รักษาในห้องไอซียู (ICU) แทนการรักษาในห้องพักผู้ป่วยทั่วไปแล้ว ยังต้องได้รับการเจาะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดออกมาวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วย และหากพบว่าเป็นหนอง แพทย์จะต้องใส่ท่อระบายเอาของเหลวเข้าไปเพื่อระบายเอาหนองออก ถ้าหากยังไม่สามารถระบายหนองออกมาได้หมด ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเข้าช่องอกเพื่อเอาหนองที่เกิดขึ้นนั้นออกมาให้หมด
  • อาการรุนแรงมาก เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง รับประทานอาหารได้น้อย เป็นปอดอักเสบ มีอาการซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถดื่มน้ำและกลืนอาหารได้ ผลการวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดงบ่งชี้ว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำ ผลการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าปอดบวมรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง หัวใจมีขนาดโตขึ้น ผลการเพาะเชื้อจากเลือดพบว่ามีเชื้อในกระแสเลือด ส่วนผลการตรวจเลือดพบว่าไตบกพร่องมาก และน้ำตาลในเลือดสูงมาก ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาในห้องไอซียู (ICU) โดยให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด ใส่ท่อเข้าหลอดลม และใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต ให้ยาอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล และอาจต้องทำการฟอกไต

ปอดบวมอาการ

การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่แสดง คือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ และจากการตรวจร่างกาย การใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด (ซึ่งจะพบว่ามีเสียงดังกรอบแกรบหรือมีเสียงหายใจค่อยกว่าปกติ) การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด (เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน) รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและเป็นแนวทางในการแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ) ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น และตามดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นการตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือดที่แพทย์มักทำในผู้ป่วยทุกราย แม้จะไม่สามารถใช้แยกสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีที่พบ Neutrophil สูงมาก และมี Toxic granules จะช่วยสนับสนุนว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การย้อมเสมหะ (Sputum) เป็นวิธีที่มีความไวแต่ไม่จำเพาะต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ อาจเป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ ถึงเชื้อก่อโรค
  • การตรวจเสมหะเพาะเชื้อ มีความไวและความจำเพาะต่ำ
  • การเพาะเชื้อจากเลือด (Hemoculture) ซึ่งแพทย์จะตรวจเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรง เชื้อที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้แก่ เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae)

อาการปอดบวม

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

  • มักตรวจพบไข้ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
  • ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วเกินเกณฑ์ตามอายุ รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว) และภาวะขาดน้ำ
  • การใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักมีเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) หรือเสียงวี้ด (Wheezing) เฉพาะในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ในบางรายอาจพบอาการเคาะทึบ (Dullness) และใช้เครื่องฟังตรวจได้ยินเสียงหายใจค่อย (Diminished breath sound) ที่ปอดข้างใดข้างหนึ่ง
  • บางรายอาจพบอาการของโรคติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เริมที่ริมฝีปาก ผื่นของอีสุกอีใส หัด หรือโรคมือเท้าปาก เป็นต้น
  • ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) หรือเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) อาจมีผื่นตามผิวหนังร่วมด้วย ส่วนการตรวจฟังปอดในระยะแรกอาจไม่พบเสียงผิดปกติก็ได้

การแยกโรค

  • ในระยะแรกที่มีอาการไข้ร่วมกับไอ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
    • โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูกใส โดยไม่มีอาการหายใจหอบ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะมีไข้อยู่ประมาณ 2-4 วัน แล้วอาการจะทุเลาไปได้เอง
    • หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ อาจเป็นสีขาว เหลือง หรือเขียว โดยไม่มีอาการหายใจหอบ
    • วัณโรคปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ ไอมีเสมหะ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บางรายอาจมีอาการไอมีเลือดปน ซึ่งอาการมักจะเป็นแบบเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
  • ในระยะที่มีอาการหายใจหอบ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
    • ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ แน่นหน้าอก หายใจหอบ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง ๆ
    • คอตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอมีเสียงแหบห้าว หายใจหอบ คอบุ๋ม กระสับกระส่าย
    • โรคหืดจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบ หายใจมีเสียงวี้ด ๆ แบบโรคหืด
    • มะเร็งปอด วัณโรคปอดระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอเรื้อรังนำมาก่อน แล้วต่อมาจะมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจหอบ และผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงร่วมด้วย

วิธีรักษาโรคปอดอักเสบ

  1. ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดในทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาที่จำเพาะ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ และบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม
  1. แนวทางการรักษาปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ประกอบด้วย
    • การให้ยาปฏิชีวนะ หากในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์อาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น (สำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ควรใช้ยาอิริโทรมัยซิน เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี และเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี) หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดแบบผู้ป่วยใน
    • การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาอาการแทรกซ้อน เช่น การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวอยู่บ่อย ๆ และให้ดื่มน้ำมาก ๆ, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดหรือให้อาหารเหลวทางสายลงกระเพาะอาหาร (ในรายที่รับประทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย), การให้ออกซิเจน (ในรายที่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ตัวเขียว ซี่โครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม), การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต (ในรายที่มีความดันโลหิตลดต่ำลง), ให้ยาขยายหลอดลม (ในรายที่ได้ยินเสียงวี้ดหรือเสียงอึ๊ด และมีการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลม), ให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะ (ในรายที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังคงเหนียวอยู่), การทำกายภาพบำบัดทรวงอก (เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น), อาจต้องการใส่ท่อเข้าหลอดลมและช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ (ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยและการให้ออกซิเจนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือมีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ) เป็นต้น
    • ติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยนัดมาตรวจดูอาการเป็นระยะ ๆ
  2. การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่ออยู่ที่บ้าน เมื่อสงสัยว่าจะเป็นปอดอักเสบ (มีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย) ควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 1-2 วัน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองเมื่อเป็นปอดอักเสบน่าจะมี 2 กรณี คือ เป็นปอดอักเสบเล็กน้อยแล้วแพทย์ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ให้กลับบ้าน) และในกรณีที่เป็นปอดอักเสบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วและแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านเพื่อรักษาและพักฟื้นตัวอยู่ที่บ้าน โดยทั้ง 2 กรณี ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
    • รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรับประทานยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานให้ครบ และไม่ควรหยุดยาเอง (ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน 10-14 วัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหอบมาก ตัวเขียว ควรรีบไปพบแพทย์)
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงานในการต่อสู้กับโรคและซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นตัว
    • ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด เช่น มีไข้นานเกิน 4 วัน (ถ้าเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้มักจะทุเลาได้ภายใน 4 วัน), มีไข้เกิดขึ้นใหม่หลังจากไข้ลงแล้ว 1-2 วัน, ไอมีเสมหะเป็นสีเหลือง เขียว สีสนิม หรือมีเลือดปน, มีอาการเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง ๆ, มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบากไม่ค่อยสะดวก, รับประทานอาหารได้น้อย มีน้ำหนักตัวลดลง หรือสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนกำหนดโดยเร็ว
  3. ถ้าพบในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ก่อนและมีอาการในระยะแรกเริ่ม คือ หายใจเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ไม่มีอาการซี่โครงบุ๋ม หรือตัวเขียว แพทย์จะให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาปฏิชีวนะ (ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย) ให้การรักษาไปตามอาการ และติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าพบโรคนี้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (เช่น ทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางปอดหรือโรคหัวใจมาก่อน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฯลฯ) หรือมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ตัวเขียว สับสนหรือซึม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน (ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงควรให้น้ำเกลือในระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลด้วย) ซึ่งแพทย์มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ตรวจระดับอิเล็กโทรไลต์และออกซิเจนในเลือด และให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ให้ยาลดไข้ ฯลฯ และเลือกให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ เช่น
    • เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) แพทย์จะให้ยาเพนิซิลลินวี (Penicillin V) หรือเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ
    • เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) แพทย์จะให้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
    • เชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) หรือเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี (Chlamydia pneumoniae) แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin), เตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
    • เชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jiroveci pneumonia) แพทย์จะให้รับประทานยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole)
    • เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) แพทย์จะให้รับประทานยาอะแมนทาดีน (Amantadine)
    • เชื้อเริม (Herpes simplex virus) หรืออีสุกอีใส-งูสวัด (Varicella-Zoster virus) แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)
    • สำหรับผลการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของโรค ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ส่วนใหญ่มักจะหายได้เป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อร้ายแรง เช่น เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส, เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนียอี เป็นต้น หรือพบในทารก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
  4. คำแนะนำเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบ
    • โดยทั่วไปหลังให้ยาปฏิชีวนะ 2-3 วัน อาการมักจะทุเลาลง (แต่ยังต้องรับประทานยาต่อไปจนครบตามที่กำหนด) แต่ถ้าให้ยาแล้วอาการยังไม่ทุเลาอาจต้องตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอด ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และหอบ มักมีสาเหตุมาจากโรคปอดอักเสบ แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หืด ครู้ป ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น
    • ผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไมโคพลาสมา นิวโมเนียอี (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ หรือมีเสมหะ ผู้ป่วยมักจะไอรุนแรง แต่ไม่มีอาการหายใจหอบรุนแรง (มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง) จึงทำให้ดูคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่และหลอดลมอักเสบ โดยอาการจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ และมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ในบางรายอาจหายได้เองโดยไม่ได้รับการรักษา แต่หลังจากหายจากไข้แล้ว อาจมีอาการไอและอ่อนเพลียต่อไปอีกหลายสัปดาห์ถึง 3 เดือน
    • โรคนี้แม้ว่าจะมีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะหายขาดได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์และรับประทานยาปฏิชีวนะ พร้อมกับติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด แต่ถ้ามีอาการหอบรุนแรง พบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือไม่มั่นใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบ

  1. เด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP vaccine), วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR), วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) หรือจะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (MMRV) ที่รวมอยู่ในเข็มเดียวกันก็ได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) และฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Pneumococcal vaccine) เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบเพิ่มเติมด้วย
  1. สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) ควรแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี, ในผู้มีอายุ 19-64 ปีที่สูบบุหรี่หรือเป็นโรคหืด และในผู้มีอายุ 2-65 ปีที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคเรื้อรัง โดยการฉีดจะฉีดเข้ากล้าม 1 เข็ม และในบางรายอาจพิจารณาให้ฉีดซ้ำหลังครั้งแรก 5 ปี (เช่น ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) หรือหากการฉีดครั้งแรกที่ก่อนอายุ 65 ปี และได้รับการฉีดมานานกว่า 5 ปีแล้วก็อาจพิจารณาฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง หลังจากครั้งที่ 2 ไปแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกแต่อย่างใด (การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้อีกด้วย หากพบว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นในภายหลัง)
  2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ภาวะทุพโภชนา ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
    • อย่านอนอมน้ำมันก๊าดเล่น และควรเก็บน้ำมันก๊าดให้ห่างจากมือเด็ก อย่าให้เด็กฉวยไปอมเล่น
    • อย่าฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ เพราะมีโอกาสติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส กลายเป็นโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงได้
    • งดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันมิให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมปอดโป่งพอง
  3. หากมีโรคประจำตัว หรือเมื่อเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ควรดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  4. หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป
  5. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรค เช่น คนในบ้าน โรงเรียน หรือในที่ทำงาน ควรปฏิบัติดังนี้
    • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ งานมหรสพ เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
    • ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
    • อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
    • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง
    • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 441-445.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 306 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค.  “ปอดอักเสบ”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [01 ส.ค. 2016].
  3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.  “ปอดอักเสบ (Pneumonia)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.boe.moph.go.th.  [01 ส.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)”.  (นพ.เฉลียว พูลศิริปัญญา ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [02 ส.ค. 2016].
  5. โรงพยาบาลกรุงเทพ.  “โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com.  [02 ส.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.epainassist.com, www.wikimedia.org (by CDC), www.newhealthadvisor.com, diseasespictures.com, www.med-ed.virginia.edu, www.mayoclinic.org, emedicine.medscape.com, www.trbimg.com, conditions.healthguru.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด