นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

นอร์ฟล็อกซาซิน

นอร์ฟล็อกซาซิน หรือ นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ซีนอร์ (Cenor), เล็กซินอร์ (Lexinor), นอร์ซาซิน (Norxacin) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนส์ (Fluoroquinolones) โดยมากจะพบเห็นในรูปของยาเม็ดรับประทาน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาที่เหมาะสม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานด้วยตัวเองเป็นอันขาด

ตัวอย่างยานอร์ฟล็อกซาซิน

ยานอร์ฟล็อกซาซิน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ซีนอร์ (Cenor), ครอสซา (Crossa), ฟล็อกซิเมด 400 (Floximed 400), โฟซิน (Foxin), โฟซินอน (Foxinon), โกนอร์ซิน (Gonorcin), จานาซิน (Janacin), เล็กซ์ฟอร์ (Lexfor), เล็กซินอร์ (Lexinor), เอ็ม-ฟล็อกซ์ 400 (M-Flox 400), มายโฟลซิน (Myfloxin), นอราซิน (Noracin), นอร์แบ็กติน (Norbactin), นอร์ซิน ยูโทเปียน (Norcin Utopian ), นอร์ฟา (Norfa), นอร์ฟลาซิล (Norflacil), นอร์โฟลซิน (Norflocin), นอร์ฟล็อก โอสถ (Norflox Osoth), นอร์ฟล็อก อาร์ เอ็กซ์ (Norflox RX), นอร์ฟล็อกซิน (Norfloxin), นอร์ฟล็อกซิล (Norfloxyl), นอร์ซาซิน (Norxacin), นอร์เซีย-200 (Norxia-200), โนซินอร์ (Noxinor), โพรซาซิน (Proxacin), เรกซาซิน (Rexacin), ซานอร์ฟล็อก (Sanorflox), เซฟนอร์ (Sefnor), สนอฟโฟซิน (Snoffocin), ยูรีน็อกซ์ (Urinox), ซาซิน (Xacin), ซีนอร์ 400 (Zinor 400) ฯลฯ

รูปแบบยานอร์ฟล็อกซาซิน

  • ยาเม็ด (Tablet) ยาเม็ดเคลือบ (Film coated tablet) และยาแคปซูล (Capsule) ขนาดความแรงของตัวยา 100, 200 และ 400 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) และยาน้ำเชื่อม (Syrup) สำหรับเด็ก ซึ่งมักผสมร่วมกับยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)

นอร์ฟล็อกซาซิน
IMAGE SOURCE : www.indiapharmaexports.com, drug.pharmacy.psu.ac.th

นอร์ซาซิน
IMAGE SOURCE : pharmacykabin.blogspot.com

สรรพคุณของยานอร์ฟล็อกซาซิน

ใช้เป็นยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) ได้แก่

  • การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร (ใช้แก้ท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) เช่น อหิวาต์ (Cholera), บิดไม่มีตัวหรือบิดชิเกลลา (Shigellosis), ไข้ไทฟอยด์ (Salmonella Enteric fever), อาการท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s diarrhea) เป็นต้น
  • การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis), ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis), กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis), หนองใน (Gonorrhea), การอักเสบของท่อเก็บเชื้ออสุจิ (Epididymitis) เป็นต้น

กลไกการออกฤทธิ์ของยานอร์ฟล็อกซาซิน

ยานอร์ฟล็อกซาซินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารเคมีบางตัว เช่น สารดีเอ็นเอไจเรส (DNA Gyrase) ซึ่งอยู่ในขบวนการสร้างสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย ส่งผลทำให้การขยายตัวและแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียลดลง

ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 30-40% ของยาที่บริโภค (การดูดซึมของยานี้จะถูกรบกวนเมื่อรับประทานพร้อมกับอาหาร) และพบว่าความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดจะมีระดับสูงสุดภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากที่รับประทานยา แล้วยาจะถูกขับออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ หากใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะไตผิดปกติ อาจทำให้ระดับของยานอร์ฟล็อกซาซินตกค้างอยู่ในร่างกายนานขึ้น

ก่อนใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยานอร์ฟล็อกซาซิน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยานอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) และยาในกลุ่มควิโนโลน (Quinolone) เช่น กรดนาลิดิซิก (Nalidixic acid), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), โลมีฟล็อกซาซิน (Lomefloxacin), โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin), พีฟล็อกซาซิน (Pefloxacin), ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin), กาติฟล็อกซาซิน (Gatifloxacin), มอกซิฟล็อกซาซิน (Moxifloxacin) เป็นต้น รวมถึงการแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันบูด หรือสี และอาการจากการแพ้ เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะใช้ เพราะยานอร์ฟล็อกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็จำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน แม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
    • การรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin)), ยาป้องกันการชัก (เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin)) หรือยาขยายหลอดลม (เช่น ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาอะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) เป็นต้น) นอร์ฟล็อกซาซินสามารถเสริมฤทธิ์ของยาเหล่านี้ได้
    • การรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซินร่วมกับยาลดกรด อาจทำให้การดูดซึมของยานอร์ฟล็อกซาซินเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
    • การรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซินร่วมกับยาลดกรดยูริกโพรเบเนซิด (Probenecid) จะเพิ่มการขับยานอร์ฟล็อกซาซินออกจากร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น
    • ยาอื่น ๆ ที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา ได้แก่ ยาลดกรด (เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide), แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) เป็นต้น), ยาบำรุงร่างกายที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ (เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate), เฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอร์รัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate ), เฟอร์ริกฟอสเฟต (Ferric phosphate) เป็นต้น), ยารักษาโรคเอดส์ไดดาโนซีน (Didanosine) เป็นต้น
  • มีหรือเคยมีความบกพร่องของการทำงานของตับหรือไต, โรคลมชัก, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคทางสมองหรือไขสันหลัง, โรคลำไส้อักเสบ, โรคเกี่ยวกับท้องหรือกระเพาะอาหาร, กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น
  • สำหรับสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด (รวมทั้งการผ่าตัดในช่องปาก) ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อนทำการรักษา

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยานอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) และยากลุ่มควิโนโลน (Quinolone)
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (ทั้งเด็กทารก เด็กเล็ก และเด็กโต) เนื่องจากมีรายงานว่ายานอร์ฟล็อกซาซินมีผลรบกวนการเจริญเติบโตของกระดูกในสัตว์ทดลองที่มีอายุน้อย อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้ใช้ยานี้หากไม่สามารถใช้ยาอื่นได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่หรือที่ยังเป็นตัวอ่อนพบว่า ยานอร์ฟล็อกซาซินมีผลทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ (โดยหลักจริยธรรมแล้วจะไม่สามารถศึกษาผลกระทบนี้ต่อทารกในครรภ์ของคนได้โดยตรง แพทย์จึงใช้ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองนำมาเป็นคำแนะนำและข้อปฏิบัติแทน)
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลว่ายานอร์ฟล็อกซาซินสามารถผ่านออกมาทางน้ำนมได้หรือไม่
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ผู้ที่มีประวัติการบาดเจ็บทางระบบประสาทส่วนกลาง และผู้ป่วยที่เป็นโรคตับและ/หรือโรคไต
  • ยานี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง (โดยเฉพาะแสงแดดเวลา 10 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็น) ไม่ทำงานหรืออยู่ที่มีแสงแดดส่องเป็นเวลานาน ๆ และควรป้องกันตัวเองจากแสงแดดร่วมด้วยเสมอ เช่น สวมเสื้อผ้า หมวก และแว่นตาป้องกันแสงแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ไม่น้อยกว่า 15 เป็นประจำ โดยอาการแพ้แสงแดดอาจเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นหลังจากหยุดใช้ยานี้ไปแล้ว หากมีอาการแพ้แดดรุนแรงควรปรึกษาแพทย์
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เซื่องซึม หรือง่วงนอน ในระหว่างการใช้ยานี้จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม หรือทำงานเสี่ยงอันตราย

วิธีใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน

  • สำหรับโรคอหิวาต์ (Cholera) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับโรคบิดชิเกลลา (Shigellosis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน (ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจจำเป็นต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน)
  • สำหรับไข้ไทฟอยด์ (Salmonella Enteric fever) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับ Campylobacter Gastroenteritis ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับ Salmonella Gastroenteritis ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
  • สำหรับอาการท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s diarrhea) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน (ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจจำเป็นต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 7-14 วัน)
  • สำหรับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออีโคไล (Escherichia coli), เชื้อเคลบเซลลา นิวโมเนีย (Klebsiella pneumoniae) หรือเชื้อโปรเตียสมิราบิลิส (Proteus mirabilis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ส่วนการติดเชื้ออื่น ๆ ให้รับประทานในขนาด 400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
  • สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน
  • สำหรับกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับการอักเสบของท่อเก็บเชื้ออสุจิ (Epididymitis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาในขนาด 800 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว

คำแนะนำในการใช้ยานอร์ฟล็อกซาซิน

  • ให้รับประทานยานี้ในขณะที่ท้องว่าง (ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เนื่องจากการรับประทานยาพร้อมอาหารจะมีผลลดการดูดซึมของยา) แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ และในระหว่างวันควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วยเพื่อช่วยลดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หากกำลังใช้ยาลดกรดอยู่ ให้รับประทานยานอร์ฟล็อกซาซินไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังรับประทานยาลดกรด (ไม่ควรรับประทานยานี้พร้อมกับยาลดกรด เพราะยาลดกรดอาจทำให้ยานี้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่) นอกจากนี้อาหารและผลิตภัณฑ์ประเภทนม เครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีน ก็สามารถลดการดูดซึมของยานอร์ฟล็อกซาซินได้ และนมยังมีแคลเซียมในปริมาณสูงอีกด้วย จึงควรรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซินก่อนอาหารหรือผลิตภัณฑ์ประเภทนมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารหรือผลิตภัณฑ์ประเภทนมไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรค แต่ละบุคคล ผู้ป่วยจึงควรใช้ยานี้ตามที่แพทย์สั่ง เภสัชกรแนะนำ หรือตามที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
  • ควรรับประทานยาให้ตรงเวลา ไม่ลืมรับประทานยา และห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ให้รับประทานยานี้ติดต่อกันจนครบช่วงการรักษา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปได้ 2-3 วันแล้วก็ตาม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของการติดเชื้อ) เพราะการหยุดใช้ยาก่อนครบช่วงการรักษา เชื้ออาจยังหลงเหลืออยู่และกลับมาเป็นซ้ำอีก หรืออาจชักนำให้เกิดเชื้อที่ดื้อยาและทำให้ยากต่อการรักษาในภายหลัง
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการไม่ได้ขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์

การเก็บรักษายานอร์ฟล็อกซาซิน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท (ควรเป็นภาชนะที่ป้องกันแสงได้ เช่น ขวดหรือซองสีชา) และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซิน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยานอร์ฟล็อกซาซิน สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยานอร์ฟล็อกซาซิน

  • อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยาได้เอง แต่หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้ อาเจียน, ง่วงนอน, เซื่องซึมหรือง่วงนอน, นอนไม่หลับ, รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดท้อง, ท้องร่วง, ท้องผูก, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, แพ้แสงแดด เป็นต้น
  • อาการข้างเคียงที่ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ เป็นไข้, กระวนกระวาย สับสน, ประสาทหลอน, การมองเห็นผิดปกติ, หน้าหรือคอบวม, ขาหรือเท้าบวม, มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง แดง คัน, ผิวไหม้หรือพุพอง, หายใจหรือกลืนลำบาก, อ่อนเพลียผิดปกติ, ตัวเหลืองตาเหลือง, ติดเชื้อในช่องคลอด, ปัสสาวะสีเข้มขึ้น, ปัสสาวะมีเลือดปน, อุจจาระสีซีดลงหรือคล้ำขึ้น, อ่อนเพลียผิดปกติ, สั่น, ชักกระตุก, เส้นเอ็นบริเวณไหล่ มือ หรือส้นเท้ามีอาการปวดบวมหรือฉีกขาด เป็นต้น
  • ในกรณีที่รับประทานยานี้ในขนาดสูง ๆ เป็นประจำ อาจเกิดการตกตะกอนของยาในปัสสาวะและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เช่น นิ่วในไต
เอกสารอ้างอิง
  1. Drugs.com.  “Norfloxacin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [05 ต.ค. 2016].
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 250-251.
  3. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “Norfloxacin, นอร์ฟล๊อกซาซิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [05 ต.ค. 2016].
  4. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “NORFLOXACIN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [05 ต.ค. 2016].
  5. หาหมอดอทคอม.  “ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [05 ต.ค. 2016].
  6. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “นอร์ฟลอกซาซินทำไมห้ามใช้กับยาลดกรด, กินกับนมได้หรือไม่, ผลค้างเคียงต่อยามีอะไรบ้าง หมอให้มาหลายครั้งแต่ละครั้งไม่เคยทานหมดจะมีผลอะไรหรือไม่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [05 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด