นมตำเลีย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมตำเลีย ! (นมมาเลีย)

นมตำเลีย

นมตำเลีย ชื่อสามัญ Wax Plant[3]

นมตำเลีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Hoya latifolia G.Don[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เป็นชนิด Hoya ovalifolia Wight & Arn.[2] โดยจัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]

สมุนไพรนมตำเลีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เนื้อมะตอม (ภาคเหนือ), นมตำเรีย นมมาเลีย (ภาคกลาง)[1], สังวาลพระอินทร์, ต้าง[2] เป็นต้น

ลักษณะของนมตำเลีย

  • ต้นนมตำเลีย เป็นหนึ่งในพืชสกุลโฮย่า (Hoya) โดยจัดเป็นพรรณไม้เลื้อยอิงอาศัยขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ลำต้นต้องอาศัยเกาะกับต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ มีรากตามข้อลำต้น ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอน หรือปักชำ ชอบที่ร่ม มีความชื้นและแสงแดดพอประมาณ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณทั่วไป และแถว ๆ ริมแม่น้ำ[1],[2],[3]

ต้นนมตำเลีย

  • ใบนมตำเลีย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปรี แผ่นใบหนา อวบน้ำ และเป็นมัน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือบางทีเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมแดง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบใหญ่ยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร[1],[2]

ใบนมตำเลีย

  • ดอกนมตำเลีย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกค่อนข้างกลมคล้ายซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ อวบมันคล้ายทำด้วยเทียนหรือขี้ผึ้ง แต่ละพันธุ์จะมีลักษณะของดอกและสีของกลีบดอกแตกต่างกันออกไป เช่น พันธุ์กลีบดอกเป็นสีชมพู สีแดง สีขาว สีเหลือง เป็นต้น[1],[2],[3]

รูปนมตำเลีย

ดอกนมตำเลีย

รูปดอกนมตำเลีย

  • ผลนมตำเลีย ออกผลเป็นฝักยาว และมีขนขึ้นปกคลุมทั่วฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก แบน รูปไข่ มีขนเป็นพู่ที่ปลาย[1],[2]

ฝักนมตำเลีย

สรรพคุณของนมตำเลีย

  • ยางจากต้นใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ[1]

ประโยชน์ของนมตำเลีย

  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป รูปทรงของต้น ใบ และดอก ดูกะทัดรัดและงดงาม นมตำเลียเป็นพรรณไม้ขนาดเล็กเหมาะสำหรับปลูกใส่ในกระถางแขวนแล้วปล่อยให้เลื้อยห้อยระย้าลงมาดูสวยงาม หรือจะปลูกให้เลื้อยเกาะขึ้นกับต้นไม้อื่นหรือขอบไม้ก็ได้ ส่วนการเพาะปลูกก็ทำได้ไม่ยากนัก แต่ควรปลูกในที่ร่มรำไร ต้องการน้ำและความชื้นสูง การให้น้ำควรให้โดยการใช้สเปรย์ฉีดพ่นเป็นฝอย ๆ ส่วนดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนที่มีส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบ เพื่อให้มีการระบายน้ำได้ดี[2],[3]

นมตำเรีย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “นมตำเลีย”.  หน้า 387.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “นมตำเลีย”. อ้างอิงใน :  หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [02 ธ.ค. 2014].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 347 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “นมตำเลีย ดอกไม้งามอย่างพอเพียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.doctor.or.th.  [02 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by loupok, Yeoh Yi Shuen, Siyang Teo, Wee Foong Ang, Chandra S, pat_ktl, Maria Shurigina), forums.gardenweb.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด