ถั่วลันเตา สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วลันเตา 28 ข้อ !

ถั่วลันเตา

ถั่นลันเตา ชื่อสามัญ Sugar pea, Sweet peas, Garden pea, Pea

ถั่วลันเตา ชื่อวิทยาศาสตร์ Pisum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

ถั่วลันเตา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วลันเตาเปลือกหนา ถั่วหวาน ถั่วแขก ถั่วลันเตา (ไทย), ถั่วน้อย (พายัพ) เป็นต้น[4],[5],[7]

ลันเตา หรือ ถั่วลันเตา เป็นผักที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีการเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารมานานหลายพันปีแล้ว โดยเชื่อว่าถั่วลันเตาเดิมทีแล้วเป็นถั่วป่า มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตอนกลาง หรือบางทีอาจเป็นอินเดีย และนักวิชาการให้การยอมรับว่าสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในแถบชายแดนไทยพม่านี่เอง เพราะมีหลักฐานย้อนกลับไปถึงกว่าหนึ่งหมื่นปี[7]

ชื่อของถั่วลันเตามาจากภาษาจีนที่เรียกว่า “ห่อหลั่นเตา” ซึ่งหมายถึงฮอลแลนด์ ส่วนคำว่า “เตา” ในภาษาจีนก็แปลว่าถั่ว สรุปถั่วลันเตาก็คือถั่วที่มาจากฮอลแลนด์ โดยจัดเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่อาหารจีนประเภทผัดผักจะขาดเสียไม่ได้[1]

ลักษณะของถั่วลันเตา

  • ต้นถั่วลันเตา จัดเป็นพืชผักที่มีเถาเลื้อย มีความสูงได้ถึง 2 เมตร เป็นพืชฤดูเดียว ลำต้นเล็กและเป็นเหลี่ยม ส่วนรากเป็นระบบรากแก้ว สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดโดยเฉพาะดินร่วนปนเหนียว และควรเป็นดินที่ค่อนข้างมีความเป็นกรดเล็กน้อย เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นจึงปลูกได้ดีในช่วงฤดูหนาว และโดยถั่วลันเตามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นพันธุ์ฝักเหนียว มีเมล็ดโต นิยมปลูกไว้เพื่อรับประทานเมล็ด ส่วนอีกประเภทจะปลูกไว้เพื่อรับประทานเฉพาะฝักสด โดยฝักจะมีขนาดใหญ่และมีปีก ส่วนอายุการเก็บเกี่ยวแต่ละสายพันธุ์ก็ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะเก็บเกี่ยวหลังการเพาะปลูกประมาณ 2-3 เดือน โดยสายพันธุ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้ 1, พันธุ์แม่โจ้ 2 และพันธุ์ฝางเบอร์ 7[1] การปลูกถั่วลันเตา จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[4]

ต้นถั่วลันเตา

  • ใบถั่วลันเตา เป็นใบแบบสลับ ใบมีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ปลายใบเปลี่ยนเป็นมือเกาะเลื้อย บางสายพันธุ์อาจมีเฉพาะมือเกาะ หรือบางสายพันธุ์ก็อาจมีเฉพาะใบ[1]

ใบถั่วลันเตา

  • ดอกถั่วลันเตา ดอกเป็นแบบดอกสมบูรณ์เพศ ผสมตัวเอง ดอกมีทั้งสีขาวและสีม่วง แล้วแต่สายพันธุ์[1]

ดอกถั่วฝักยาว

  • ฝักถั่วลันเตา ลักษณะคล้ายถั่วแปบ ฝักยาวรีมีสีเขียวสด ภายในฝักมีเมล็ดลักษณะกลมสีเขียวอยู่ประมาณ 2-4 เมล็ด หรือที่เรียกว่า “เมล็ดถั่วลันเตา[4]

ฝักถั่วลันเตาลักษณะถั่วลันเตา

เมล็ดถั่วลันเตา
เมล็ดถั่วลันเตา (ถั่วลันเตาชนิดกินเมล็ด)

สรรพคุณของถั่วลันเตา

  1. ยอดของถั่วลันเตามีเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณ (ยอดถั่วลันเตา)[1]
  2. ใช้บำบัดโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรรับประทานเป็นประจำ[3] ด้วยการใช้ฝักอ่อนสดนำมาล้างน้ำให้สะอาดและนำไปต้มจนสุก แล้วนำมารับประทานเป็นประจำ[5]
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด[8]
  4. เมล็ดช่วยบำรุงไขมัน (เมล็ด)[8]
  5. ถั่วลันเตาอุดมไปด้วยวิตามินบี วิตามินบี 12 และสารเลซิทิน (Lecithin) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทมาก จึงช่วยป้องกันอาการขี้หลงขี้ลืมได้[6]
  6. ช่วยรักษาโรคหัวใจ ด้วยการใช้ฝักถั่วลันเตาทั้งฝักที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำไปคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งแก้ว ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น[5]
  7. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต ด้วยการใช้ฝักถั่วลันเตาทั้งฝักที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำไปคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งแก้ว ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น[3],[5]
  8. ถั่วลันเตาเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยละลายลิ่มเลือด เนื่องจากผู้ป่วยบางท่านได้ดื่มน้ำถั่วลันเตาแล้วมีอาการดีขึ้น เป็นความรู้ที่เล่าต่อกันมา และยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด[7]
  9. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน (ยอดถั่วลันเตา)[1]
  10. ช่วยขับของเหลวในร่างกาย[3]
  11. ช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด[3]
  12. คนโบราณมักใช้เถาถั่วลันเตามาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้เข้าเครื่องยาเพื่อรักษาโรคตับพิการ รักษาโรคตับทรุด ตับติดเชื้อ อาการผิดปกติในตับ และช่วยบำรุงตับ โดยนิยมใช้กับเถาลิ้นเสือ (เถา)[4],[5],[7],[8] นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยซักตับหรือทำให้ตับสะอาดและแข็งแรง (เถา, เมล็ด)[8] ส่วนฝักถั่วลันเตาก็มีฤทธิ์บำรุงตับด้วยเช่นกัน (ฝัก)[7]
  13. ช่วยถอนพิษ[1]
  14. ช่วยแก้เป็นตะคริว อาการเหน็บชา[3]
  15. ช่วยบำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด)[8]
  16. ช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรี[3]
  17. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของถั่วลันเตา ได้แก่ มีฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิด ช่วยยับยั้งคอหอยพอก ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และลดความดันโลหิตสูง[8]

ประโยชน์ของถั่วลันเตา

  1. ถั่วลันเตามีเส้นใยอาหารอยู่มาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี[1]
  2. ถั่วลันเตานอกจากจะมีเส้นใยอาหารสูงแล้ว ยังมีไขมันต่ำ และอยู่ในรูปของไขมันไม่อิ่มตัว การรับประทานเป็นประจำ จึงไม่มีผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด[7]
  3. ถั่วลันเตาเป็นอาหารที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพราะถั่วชนิดนี้มีโซเดียมเพียง 5% ของปริมาณสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ ดังนั้นมันจึงเป็นถั่วที่ถูกโฉลกกับผู้ที่เป็นโรคความดันสูง[7]
  4. ถั่วลันเตามีโปรตีนสูงกว่าพืชผักทั่วไป มีทั้งแป้งและน้ำตาล ทำให้มีความหวานน่ารับประทาน พ่อแม่อาจริเริ่มให้ลูกรักการรับประทานผักได้ด้วยการนำถั่วลันเตาอ่อน ๆ ให้ลองชิมก่อน เด็กอาจจะชอบเพราะความหวาน และยังเป็นการปลูกฝังนิสัยการรับประทานผักให้เด็กได้เป็นอย่างดี[7]
  5. สำหรับบางคนอาจใช้น้ำถั่วลันเตาเพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กที่มีความผิดปกติทางด้านโภชนาการ หรือขาดสารอาหาร ผอมแห้ง รวมไปถึงเด็กที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็นหืนและค่อนข้างเหนียว[7]
  6. ถั่วลันเตาหรือซุปถั่วลันเตา สามารถช่วยให้อาการทุเลาลงหรือหายไปได้ เพราะส่วนกากที่ผสมอยู่ในน้ำถั่วลันเตานั้น จะช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารช่วยจับสารพิษก่อโรคต่าง ๆ และช่วยเพิ่มการดูดซึมอาหารให้ดียิ่งขึ้น ช่วยรักษาอาการของโรคไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้หงุดหงิด เมื่อดื่มน้ำปั่นถั่วลันเตาแล้วอาการจะดีขึ้นมาก แต่ต้องเป็นน้ำถั่วลันเตาที่นำไปต้มแล้วเสิร์ฟแบบอุ่น ๆ พร้อมทั้งเติมผลกระวานและขิงเข้าไปด้วยพอให้ออกรสร้อน[7]
  7. ถั่วลันเตาประเภทกินเมล็ดเป็นผักที่นิยมใช้ในอาหารจีนประเภทผัดผัก ผัดถั่วลันเตา หรือนำไปต้ม ทำไข่ยัดไส้ แกงจืดใส่หมู ข้าวผัดอเมริกัน ใช้เป็นส่วนประกอบในเบเกอรี่ อย่างเช่น พิซซ่า แซนด์วิช ไส้ขนมปัง หรือใช้เป็นเครื่องเคียงในสเต็ก ฯลฯ[1]
  8. ส่วนถั่วลันเตาประเภทกินฝัก เราจะใช้ฝักถั่วที่ยังอ่อนอยู่นำมาใช้ปรุงอาหาร ด้วยการนำไปผัดกับหมูหรือกุ้ง ผัดน้ำมันหอย ผัดผักรวมมิตร ใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ทำเป็นแกงแคร่วมกับผักต่าง ๆ แกงเลียง แกงส้ม หรือทำแกงจืดหมูสับ เป็นต้น ส่วนฝักแก่ก็นำมาปอกแยกเอาแต่เมล็ดมารับประทานเป็นผัก[1]
  9. เรามักนิยมใช้ยอดของต้นถั่วลันเตาพันธุ์กินยอดมาใช้ปรุงอาหาร และยังให้โปรตีนมากกว่าผักทั่ว ๆ ไป หากนำมาใช้ผัดจะมีรสหวานและกรอบ แต่ควรผัดด้วยไฟแรงอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้คุณค่าทางอาหารสูญหายไปมากนัก[1]
  10. เมล็ดถั่วลันเตาสามารถนำไปต้มดองหรือทำเป็นถั่วกระป๋องขาย[4]
  11. ใช้แปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำเป็นผักแช่แข็ง นำไปต้ม คั่ว หรืออบกรอบกับเกลือเป็นขนมขบเคี้ยวก็ได้ ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน[1]

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วลันเตา ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 81 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 14.45 กรัม
  • น้ำตาล 5.67 กรัม
  • เส้นใย 5.1 กรัมถั่วลันเตาแบบกินเมล็ด
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • โปรตีน 5.42 กรัม
  • วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม 5%
  • เบตาแคโรทีน 449 ไมโครกรัม 4%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 2,477 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.266 มิลลิกรัม 23%
  • วิตามินบี 2 0.132 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 3 2.09 มิลลิกรัม 14%
  • วิตามินบี 6 0.169 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 9 65 ไมโครกรัม 16%
  • วิตามินซี 40 มิลลิกรัม 48%
  • วิตามินอี 0.13 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินเค 24.8 ไมโครกรัม 24%
  • ธาตุแคลเซียม 25 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุเหล็ก 1.47 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุแมกนีเซียม 33 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุแมงกานีส 0.41 มิลลิกรัม 20%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 108 มิลลิกรัม 15%
  • ธาตุโพแทสเซียม 244 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุโซเดียม 5 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุสังกะสี 1.24 มิลลิกรัม 13%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

รูปถั่วลันเตา
ถั่วลันเตาชนิดกินเมล็ด

ถั่วลันเตาแบบกินฝัก
ถั่วลันเตาชนิดกินฝัก

คำแนะนำในการรับประทานถั่วลันเตา

  • ถั่วลันเตาเป็นถั่วที่มีสารพิวรีน (Purine) ปานกลาง ดังนั้นผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติควรลดปริมาณการรับประทานถั่วลันเตาลง เพราะสารพิวรีนจะทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ส่งผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ และโรคเกาต์ได้[2]
  • ถั่วลันเตาเป็นหนึ่งในผักที่มักมีสารปนเปื้อนหรือยาฆ่าแมลงผสมอยู่ ดังนั้นก่อนการนำมาปรุงอาหารควรล้างให้สะอาดเสียก่อน[2] ด้วยการนำฝักถั่วมาล้างให้สะอาดหลาย ๆ น้ำ และการล้างผักที่ดีควรแช่ไว้ในน้ำให้ไหลรินสักช่วงเวลาหนึ่ง[7]
  • การเลือกซื้อถั่วลันเตา ควรเลือกฝักที่สดหักแล้วดังเป๊าะ ถ้าหนังเหี่ยวเหนียงยาน ยอมงอไม่ยอมหัก แบบนี้ไม่ควรซื้อมาผัดกิน เมื่อซื้อถั่วลันเตาจากตลาดมาแล้วก็ให้รีบนำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วแช่ไว้ในตู้เย็นทันทีเพื่อคงความสด เพราะถ้าหากทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องเพียงแค่ 3 ชั่วโมง ก็จะทำให้ความหวานและความกรอบลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร (เกตุอร ทองเครือ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agrimedia.agritech.doae.go.th.  [20 ต.ค. 2013].
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “ปฏิรูปอาหารปลอดภัย“, “ยูริกในร่างกายสูงเสี่ยงหูมีปัญหา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [20 ต.ค. 2013].
  3. ชีวจิต.  อ้างอิงใน: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 208 (1 มิ.ย. 2550).  “มหัศจรรย์พลังของถั่ว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com.  [20 ต.ค. 2013].
  4. สมุนไพรดอตคอม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com.  [20 ต.ค. 2013].
  5. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร (วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2546).  ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอนถั่วพูและถั่วลันเตา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [20 ต.ค. 2013].
  6. Oknation.  “อยากฉลาดต้องถั่วลันเตา“.  อ้างอิงใน: นิตยสาร Spicy.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net.  [20 ต.ค. 2013].
  7. สมาคมหมออนามัย.  อ้างอิงใน: เภสัชโภชนา (ภก.สรจักร ศิริบริรักษ์).  “น้ำถั่วลันเตา ละลายลิ่มเลือด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.mohanamai.com.  [20 ต.ค. 2013].
  8. GotoKnow.  “ถั่วลันเตาผัดน้ำมันมะพร้าวแครอท เมล็ดและเถา สมุนไพรเป็นยา ซักตับ แก้ตับทรุด ตับพิการ บำรุงเส้นเอ็น ลดคอเลสเตอรอล“.  อ้างอิงใน: หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด (ภก.จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org.  [20 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by smalla, joeysplanting, HITSCHKO,andreasbalzer, naturgucker.de, Jan-Tore Egge, Eric Hunt., horticultural art, 阿橋花譜 KHQ Flowers)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด