ถอบแถบน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นถอบแถบน้ำ 14 ข้อ !

ถอบแถบน้ำ

ถอบแถบน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris trifoliata Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dalbergia heterophylla Willd., Deguelia trifoliata (Lour.) Taub., Deguelia uliginosa (Willd.) Baill., Deguelia uliginosa var. loureiri Benth., Derris affinis Benth.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[2]

สมุนไพรถอบแถบน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ทับแถบ (สมุทรสงคราม), แถบทะเล ถอบแถบทะเล (เพชรบุรี), ถั่วน้ำ (นราธิวาส), แควบทะเล ผักแถบ (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของถอบแถบน้ำ

  • ต้นถอบแถบน้ำ จัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ลำต้นมักทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ประมาณ 5-10 เมตร กิ่งเรียวยาว มักขึ้นตามฝั่งแม่น้ำและพื้นที่พรุใกล้กับทะเล[1],[2]

ต้นถอบแถบน้ำ

ต้นถอบแถบน้ํา

  • ใบถอบแถบน้ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียน มีใบย่อยประมาณ 1-2 คู่ และที่ปลายอีก 1 ใบ ก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยมีขนาดสั้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบทู่ถึงมนกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบประมาณ 8-10 คู่[1],[2]

ใบถอบแถบน้ำ

  • ดอกถอบแถบน้ำ ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบ ช่อดอกยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวก่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[2]

ถอบแถบน้ํา

ดอกถอบแถบน้ำ

ดอกถอบแถบน้ํา

  • ผลถอบแถบน้ำ ออกผลเป็นฝักเบี้ยว ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน ขอบฝักเป็นสันบางแคบ ๆ สันฝักด้านบนกว้างกว่าด้านล่างสองเท่า ฝักมีขนาดประมาณ 3 x 3.5 เซนติเมตร ฝักเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีเหลือง มีเมล็ดเดี่ยว ซึ่งเมล็ดมีลักษณะแบนเป็นรูปไต มีขนาดยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร[1],[2]

ผลถอบแถบน้ำ

สรรพคุณของถอบแถบน้ำ

  1. รากใช้เป็นยาแก้พิษตานซาง (ราก)[3]
  2. เถาใช้เป็นยาแก้ตานขโมย (เถา)[3]
  3. ช่วยระบายพิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
  4. รากมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ถ่ายเสมหะ (ราก)[1],[3]
  5. ช่วยถอนพิษสำแดง (เถา)[3]
  1. เถาและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับลม (เถา, ใบ)[1],[3]
  2. รากมีสรรพคุณช่วยขับผายลม ทำให้ถ่ายอุจจาระ (ราก)[1],[3]
  3. เถา ราก ใบ และทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (เถา, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[3]
  4. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[3]
  5. รากและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดข้อ (ราก, เปลือกต้น)[1],[3]
  6. ช่วยแก้อาการปวดกระดูก (ราก)[3]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการเกร็ง (ทั้งต้น)[3]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [1] ในส่วนของเถาและต้น ให้นำเถาหรือต้นประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของถอบแถบน้ำ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ anyrin, camplsterol, cholesterol, quercetin, neohesperidoside, rhamnitin, stigmasterol[1]
  • ถอบแถบน้ํามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ และฆ่าแมลง[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการศึกษาโดยการสกัดใบและลำต้นของถอบแถบด้วยเมทานอลเพื่อทำการศึกษาผลของของการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด โดยได้ทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง จากนั้นให้สารสกัดจากถอบแถบ ภายหลังการทดลองพบว่าระดับของคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) หลังจากให้สารสกัดประมาณ 7 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ระดับของไขมันดี (HDL) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังจากให้ถอบแถบ 7 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาลดไขมัน fenofibrate ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ถอบแถบมีฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดได้ เนื่องจากสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมันดีได้[1]

ประโยชน์ของถอบแถบน้ำ

  • ใช้เป็นยาฆ่าแมลง[1]
  • ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ bangkrod.blogspot.com ที่อ้างอิงในหนังสือพรรณไม้ในสวนหลวง ร.9 เล่มที่ 2 ได้ระบุว่า ที่หมู่เกาะโซโลมอน จะใช้รากแห้งเป็นยาเบื่อปลา ตำรับยาพื้นบ้านอินเดียจะใช้ทั้งต้นแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาคลายกล้ามเนื้อปวดเกร็ง เถามีลักษณะเหนียวสามารถนำมาใช้แทนเชือกได้ และยังสามารถนำใบแก่จัดมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำแชมพูสมุนไพรกำจัดเหาได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ถอบแถบ”  หน้า 91-92.
  2. ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.  “ถอบแถบน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : marinegiscenter.dmcr.go.th.  [01 ก.ย. 2014].
  3. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ถอบแถบน้ำ  Derris trifoliata Lour.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/mfcd20/.  [01 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, andreas lambrianides, Shubhada Nikharge, Russell Cumming, Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด