พญาไร้ใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพญาไร้ใบ 7 ข้อ !

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ ชื่อสามัญ Moon plant, Moon creeper[2]

พญาไร้ใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarcostemma acidum (Roxb.) Voigt จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]

สมุนไพรพญาไร้ใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาติดต่อ (นครราชสีมา), เถาหูด้วน (สุพรรณบุรี), เอื้องเถา (กาญจนบุรี), เถาวัลย์ยอดด้วน (ราชบุรี), เถาวัลย์ด้วน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นพญาไร้ใบที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกับต้นพญาไร้ใบชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia tirucalli L. สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่บทความเรื่อง “พญาไร้ใบ

ลักษณะของพญาไร้ใบ

  • ต้นพญาไร้ใบ ชนิดนี้จัดเป็นพรรณไม้เถาที่ไม่มีใบ มีกิ่งก้านเป็นข้อ ๆ ข้อต้นเป็นสีเขียว แต่ละข้อมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทุกส่วนของลำต้นจะมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าราบทั่วไป และขึ้นตามหินปูน[1]

ต้นพญาไร้ใบ

  • ดอกพญาไร้ใบ จะออกดอกเป็นกระจุก ดอกเป็นสีขาวอมสีเขียว โดยจะออกดอกตรงข้อและตรงปลายกิ่ง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ จะติดกันอยู่บริเวณโคนกลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนกลีบรองดอกมีแฉก 5 แฉก มีขนาดเล็ก เกสร Corona จะติดอยู่กับเกสรเพศผู้ ที่เชื่อมติดกัน ส่วนตรงปลายอับเรณูจะงอเข้าหากัน[1]

ดอกหญ้าไรใบ รูปดอกพญาไร้ใบ

  • ฝักพญาไร้ใบ ออกผลเป็นฝัก โดยฝักนั้นจะมีความยาวประมาณ 10-12.5 เซนติเมตร ปลายฝักเรียวแหลมและตรง ภายในฝักมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่แบน มีความยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร[1]

สรรพคุณของพญาไร้ใบ

  1. รากมีรสหวานมันเล็กน้อย ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[1]
  2. รากใช้กินเป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)[1]
  3. ลำต้นแห้ง ใช้ทำเป็นยาทำให้อาเจียน (ลำต้นแห้ง)[1]
  4. ช่วยบำรุงปอด (ราก)[1]
  5. รากใช้กินเป็นยาบำรุงตับ (ราก)[1]
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยาขม ยาเย็น และยาขับน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[1]

หมายเหตุ : และในพืชวงศ์เดียวกันก็ยังมีพืชอีกชนิดที่เรียกว่า “เถาวัลย์ด้วน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarcostemma viminale subsp. brunonianum (Wight & Arn.) P.I. Forst. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sarcostemma brunonianum Wight & Arn.) และมีชื่อท้องถิ่นเหมือนกันว่า “พญาไร้ใบ” มีลักษณะของต้นคล้ายกัน แต่ชนิดนี้จะมีสรรพคุณเป็นยาดับพิษไข้ร้อน ช่วยทำให้เจริญอาหาร ขับน้ำเหลืองเสีย (เถา) ส่วนน้ำยางมีรสเย็น ใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฟาง[3] ส่วนอีกข้อมูลบอกว่าใช้หัวใต้ดินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงปอด และตับ[4] (ไม่แน่ใจว่าน้ำยางจะมีพิษเหมือนต้นพญาไร้ใบชนิด Euphorbia tirucalli L. หรือไม่)

ประโยชน์ของพญาไร้ใบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “พญาไร้ใบ”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 527-528.
  2. Digital Flora Karnataka.  “Sarcostemma acidum (Roxb.) Voigt”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: florakarnataka.ces.iisc.ernet.in/hjcb2/. [30 เม.ย. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “เถาวัลย์ด้วน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [30 เม.ย. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เถาวัลย์ด้วน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [30 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lalithamba)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด