ชิงเฮา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชิงเฮา 10 ข้อ !

ชิงเฮา

ชิงเฮา ชื่อสามัญ Sweet wormwood, Sweet annie, Sweet sagewort, Annual mugwort, Annual wormwood (Chinese: 青蒿)

ชิงเฮา ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia annua L. (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Artemisia apiacea Hance) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรชิงเฮา มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า โกฐจุฬาลัมพาจีน, โกฐจุฬา, ชิงฮาว, แชเฮา, เซียงเก่า ชิงเฉา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของชิงเฮา

  • ต้นชิงเฮา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1-2 ปี เมื่อออกดอกและผลแล้วต้นจะตาย ลำต้นมีลักษณะกลมสูงได้ประมาณ 40-150 เซนติเมตร หากโตเต็มที่จะมีความสูงได้ประมาณ 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมีลายเส้นตรง เรียบเงามัน ไม่มีขน ทั้งต้นมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เป็นพืชที่ชอบอากาศอบอุ่น มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แต่ในปัจจุบันพบได้ในหลายประเทศ เช่น ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกา ส่วนในประเทศไทยได้มีการนำมาทดลองปลูกทางภาคเหนือและภาคกลาง และได้พบว่าต้นชิงเฮาสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าการนำไปปลูกในภาคกลาง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเมล็ดชิงเฮาสายพันธุ์เวียดนามมาปลูกที่เชียงใหม่ พบว่าปริมาณของสารสำคัญ (อาติมิซินิน) ลดลงกว่า 50%[1],[2],[3]

ต้นชิงเฮา

  • ใบชิงเฮา ใบที่แตกจากโคนต้นนั้นจะแผ่อยู่บนพื้นดิน ใบเป็นใบเรียงสลับ ใบอ่อนมักเป็นเสี้ยว เมื่อแก่มักเป็นสีเขียวอมเหลือง ไม่มีขน มีก้านใบเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเป็นสามแฉก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อยทั้งหน้าใบและด้านใน[1]

ใบชิงเฮา

  • ดอกชิงเฮา ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ดอกมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานแล้วกลีบดอกมักเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน[1]

รูปชิงเฮา

ดอกชิงเฮา

  • ผลชิงเฮา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรีหรือยาวรี เป็นผลแห้งขนาดเล็กมาก ส่วนตามภาพด้านล่างนั้นเป็นรูปของเมล็ดชิงเฮา[1],[2]

เมล็ดชิงเฮา

สรรพคุณของชิงเฮา

  1. ทั้งต้นมีรสขม มีกลิ่นหอม เผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ดี ม้าม และกระเพาะใช้เป็นยาแก้ร้อนใน ลดไข้ ทำให้เลือดเย็น แก้ร่างกายอ่อนแอ มีไข้ กระสับกระส่าย (ทั้งต้น)[1]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นมาลาเรีย แก้ไข้เนื่องจากวัณโรค ไข้ต่ำเป็นเวลานานแต่ไม่มีเหงื่อ ไข้อันเกิดความร้อนในฤดูร้อน (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้ เพื่อลดเสมหะ แก้เจลียงหรือไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวันซึ่งเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง (ทั้งต้น)[4]
  1. ใช้เป็นยาแก้หืด แก้หอบ แก้ไอ และใช้เป็นยาขับเหงื่อ (ทั้งต้น)[4]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)[2],[4]
  3. ใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
  4. ในบัญชียาสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม มีปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพา (ชิงเฮา) ในตำรับยารักษาอาการโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวม 4 ตำรับ คือ ตำรับยาหอมเทพจิตร ตำรับยาหอมนวโกฐ (สองตำรับนี้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง), ตำรับยาจันทน์ลีลา และตำรับยาแก้ไขห้าราก (สองตำรับนี้เป็นตำรับยาแก้ไข้ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู)[4]
  5. นอกจากนี้ยังได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐจุฬาลัมพา (ชิงเฮา) จัดอยู่ใน พิกัดโกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ), พิกัดโกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และพิกัดโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก และเป็นยาชูกำลัง (ทั้งต้น)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : ให้ใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนต้นสดให้ใช้ภายนอกนำมาตำแล้วพอก[1]

หมายเหตุ : ในระยะการเจริญเติบโตต้นชิงเฮาจะค่อย ๆ สร้างสารอาติมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย และจะสร้างสารชนิดนี้เพิ่มขึ้นจนสูงสุดในระยะก่อนออกดอก ในระยะนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การเก็บเกี่ยวมาใช้เป็นยา ส่วนของพืชที่สะสมสารชนิดนี้มากที่สุดคือส่วนของใบ ก้าน และดอก ตามลำดับ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในการปลูกก็มีผลต่อปริมาณการสร้างสารอาติมิซินินด้วย โดยชิงเฮาสายพันธุ์ของจีนและเวียดนามจะมีปริมาณของสารอาติมิซินินมากที่สุดคือประมาณ 1% ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์ที่พบในทวีปยุโรปและอเมริกาถึง 5-200 เท่า[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชิงเฮา

  • ชิงเฮามีสารประกอบมากถึง 79 ชนิด โดยมี Arteamisinin ที่มีชื่อเรียกในภาษาจีน คือ Qinghaosu และสาร Abrotanine ทั้งต้นมีน้ำมันระเหยประมาณ 0.3-0.5% (Cineole หรือ Eucalyptol), Artemisia ketone, C10H16O), (1-B-artemisia alcohol acetate, C10H160CO.CH3), (1-camphor), (Cuminal), (Carypohyllene), (C15H240), (Cadinene, C15H24), (Scodolin, C16H18O9), (Scopoletin, C10H8O4) เป็นต้น[1]
  • มีรายงานว่า ชิงเฮามีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ป้องกันการเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร ปกป้อง DNA ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพหลายชนิด ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน[4]
  • เมื่อเอาความเข้มข้น 1 ต่อ 3 ของน้ำแช่ต้นชิงเฮา มาทดลองกับเชื้อราของโรคผิวหนังในหลอดทดลอง พบว่า ความเข้มข้นของชิงเฮา 7.8 มิลลิกรัมต่อซีซี สามารถยับยั้งเชื้อราได้ดี[1]
  • การนำมาใช้รักษามาลาเรีย เนื่องจากสาร Artemesinin เป็นสารที่ละลายยากทั้งในน้ำและในน้ำมัน ปัจจุบันจึงมีการแยกสังเคราะห์แบ่งแยกสารอนุพันธ์ของ Artemesinin แยกออก ได้แก่ Artemether กับ Artesunate เป็นสองชนิด[1] โดย Artemether จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemesinin ประมาณ 2-3 เท่า ละลายในน้ำมันได้ดี จึงสามารถนำไปเตรียมเป็นยาฉีดเข้ากล้ามได้ ส่วน Artesunate จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemesinin ประมาณ 2-3 เท่าเช่นกัน แต่จะละลายในน้ำได้ดี จึงสามารถนำไปเตรียมเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้ และส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า[3]
  • Artemisinin และสารอนุพันธ์ จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายเป็นสาร Active metabolite คือ Dihydroartemisinin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemisinin 2 เท่า โดยออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียในระยะที่เป็น Blood schizont สารกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Plasmodium ทุก species ทั้งที่ดื้อและไม่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ในปัจจุบันสารกลุ่มนี้ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง ทั้งในสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิกทั้ง 4 ระยะ จนได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบมากในประเทศไทย[1]
  • กลไกการออกฤทธิ์ต้านมาลาเรีย สาร Artemisinin นั้นจัดอยู่ในกลุ่ม Sesquiterpene Lactone ชนิดที่มี Endoperoxide bridge อยู่ภายใน ring ซึ่งไม่ค่อยพบได้ในธรรมชาติ โดยเชื่อว่ากลุ่ม Endo-peroxide (C-O-O-C) นี้เป็นส่วนสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากอนุพันธ์ของ Artemisinin ที่ไม่มีกลุ่ม Endoperoxide จะไม่มีฤทธิ์เลย คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้อาศัยกระบวนการสร้างอนุมูลอิสระ คือ เชื้อมาลาเรียจะทำลายเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วย โดยเปลี่ยน Haemoglobin (Fe3+) ให้เป็น Haem (Fe2+) ซึ่ง (Fe2+) ที่เกิดขึ้นจะไปเร่งปฏิกิริยาเปลี่ยน Endoperoxide ให้เป็นอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้จะไปจับกับโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ทำให้เชื้อถูกทำลาย ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต่างไปจากยาต้านมาลาเรียที่ใช้อยู่เดิม เช่น ยาในกลุ่มควินิน ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์ DNA และ RNA จึงทำให้ยาชนิดนี้ใช้ได้ผลดีกับเชื้อมาลาเรียชนิดดื้อยา[3]
  • เมื่อให้ Artemisinin แก่หนูทดลองทางปาก ยาจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วและมีความเข้มข้นในเลือดสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนยาที่เหลือจะถูกกำจัดที่ตับโดยเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ ส่วนอนุพันธ์ของ Artemisinin คือ Artemether และ Artesunate จะถูกเปลี่ยนเป็น Dihydroartemisinin ซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากยากลุ่มนี้มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (ประมาณ 4 ชั่วโมงในกระแสเลือด) และการออกฤทธิ์เร็วของยาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 วัน แต่ต้องใช้ยากลุ่ม Artemisinin ในการรักษานานประมาณ 5-7 วัน เมื่อเทียบกับเมโฟรควินซึ่งมีค่าครึ่งชีวิตนานถึง 6-22 วัน ทำให้ยาออกฤทธิ์ช้าและเกิดอาการดื้อยาได้ง่าย[3]
  • การสังเคราะห์ทางเคมี การสังเคราะห์สาร Artemisinin และสารอนุพันธ์ด้วยวิธีดังกล่าวต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่คุ้มทุน จึงนิยมสังเคราะห์โดยใช้ Artemisinin ที่แยกได้จากพืชชิงเฮาเป็นตัวตั้งต้นปฏิกิริยา สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมได้ทำการสกัดโดยวิธี Solvent extraction และทำให้สารบริสุทธิ์โดย Preparative MPLC แล้วสังเคราะห์อนุพันธ์ของ Artemisinin ที่แยกได้โดยใช้เครื่องทำปฏิกิริยาเคมีขนาด 20 ลิตร และสามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ได้ 3 ชนิด คือ Artemether, Artesunate และ Dihydroartemisinin โดยพบว่าอนุพันธ์ Dihydroartemisinin นั้นมีขั้นตอนการสังเคราะห์ที่สั้นกว่าอนุพันธ์อื่นและมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่า Artemisinin จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียชนิดดื้อยาได้ จากนั้นได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรยา Dihydroartemisinin ตลอดจนพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพจนได้เป็นยาเม็ด Dihydroartemisinin ชนิดฟิล์มเคลือบขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม และยา Dihydroartemisinin ชนิดแคปซูลขนาด 100 มิลลิกรัม[3]
  • จากการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา Dihydroartemisinin ทางคลินิกในผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียชนิดดื้อยา โดยทดสอบตัวยา 3 สูตร ในผู้ป่วยกลุ่มละ 60 คน ได้แก่ 1. ยา Dihydroartemisinin ที่สังเคราะห์และพัฒนายาเองทุกขั้นตอนโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม, 2. ยา Dihydroartemisinin ที่นำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศเวียดนามและใช้สูตรยาขององค์การเภสัชกรรม และ 3. ยา Dihydroartemisinin สำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นในประเทศจีน ทำการทดลองให้ยาแก่ผู้ป่วยในขนาด 600 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 5 วัน ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยทุกรายไม่มีเชื้อในเลือดภายใน 3 วัน หลังจากเริ่มการรักษาและไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอัตราการหายจากโรคคิดเป็น 92%, 85% และ 80% ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า Dihydroartemisinin ออกฤทธิ์เร็ว ซึ่งมีข้อดีคือ จะทำให้เชื้อดื้อต่อยาได้ยากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ใช้เป็นยาต้านมาลาเรียเฉพาะกับผู้ป่วยมาลาเรียชนิดที่ใช้ยาต้านมาลาเรียอื่นไม่ได้ผลเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสการดื้อยาของเชื้ออันเนื่องมาจากการใช้ยาผิดวิธีนั่นเอง[3]
  • จากข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาที่ทำการศึกษาในคน เมื่อนำมาใช้ในคน มีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงน้อยมาก และเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง อาการที่พบคือ มีไข้ คลื่นไส้ และอาการที่พบได้เล็กน้อย คือ เม็ดเลือดแดงลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คือ หัวใจเต้นช้าลง[1]

ประโยชน์ของชิงเฮา

  • ทั้งต้นใช้เป็นยาฆ่ายุงได้ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำไปฆ่ายุง[1]
  • ในปัจจุบันสาร Artemisinin และอนุพันธ์ที่มีอยู่ในต้นชิงเฮาถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวาง จนได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบมากในประเทศไทย[1] โดยนำมาผลิตเป็นยาทั้งในรูปของยาเม็ดและยาฉีด[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ชิงเฮา”.  หน้า 204.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ชิงเฮา Qinghao”.  หน้า 56.
  3. องค์การเภสัชกรรม.  (ดร.ประภัสสร สุรวัฒนาวรรณ).  “ชิงเฮา…สมุนไพรต้านมาลาเรีย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.gpo.or.th.  [05 ม.ค. 2015].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐจุฬาลัมพา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [05 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lloyd Crothers, Andrey Zharkikh, Corey Raimond)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด