ชายผ้าสีดา สรรพคุณและประโยชน์ของเฟิร์นชายผ้าสีดา 6 ข้อ !

ชายผ้าสีดา

ชายผ้าสีดา ชื่อสามัญ Holttum’s Staghorn-fern[1]

ชายผ้าสีดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Platycerium holttumii Joncheere & Hennipman จัดอยู่ในวงศ์ POLYPODIACEAE[1],[2]

เฟิร์นชายผ้าสีดา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระเช้าสีดา ข้าวห่อพญาอินทร์ (น่าน), สไบสีดา (เลย), กระเช้าสีดา (ภาคอีสาน), ชายผ้าสีดา หูช้าง (ชื่อทางการค้าในกรุงเทพฯ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของชายผ้าสีดา

  • ต้นชายผ้าสีดา จัดเป็นเฟิร์นที่เกาะอาศัยอยู่บนพรรณไม้อื่น ลำต้นเป็นแท่งเหง้าแบบแท่งดินสอ ฝังตัวอยู่ในระบบรากและใบกาบห่อหุ้ม โผล่ออกมาแต่ตายอด บริเวณยอดเหง้าปกคลุมแน่นไปด้วยเกล็ดยาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายสอบแหลม เกล็ดมีขนาดใหญ่ได้ถึง 15 x 1.5 มิลลิเมตร ขอบเกล็ดหยักเป็นซี่ฟัน ทั้งลำต้นเป็นสีเขียวปนสีน้ำเงิน มีขนนวลขาวปกคลุมอยู่ทั่วไป ที่ยอดเหง้าคือส่วนที่สำคัญที่สุด หากถูกทำลายอาจทำให้ต้นตายได้ การขยายพันธุ์จำเป็นต้องอาศัยงอกจากสปอร์ใหม่เสมอ ปลูกเลี้ยงและดูแลง่าย เจริญเติบโตได้ตลอดปี หากได้รับความชื้นอย่างสม่ำเสมอและอุณหภูมิไม่ต่ำจนหนาวเย็น ชอบแสงแดดรำไรถึงแสงแดดมาก มีความชื้นในอากาศสูง ชายผ้าสีดำมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ในบ้านเราพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคอีสาน มักอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ขนาดใหญ่ระดับความสูงประมาณ 7-10 เมตร จากพื้นดินในป่าดิบแล้ง[1],[2]

ต้นชายผ้าสีดา

  • ใบชายผ้าสีดา ใบมีลักษณะแข็งหนาเป็นมันคล้ายหนัง ใบมีสองชนิด โดยใบกาบจะเจริญเป็นแผ่นหนา มีลักษณะชูตั้งขึ้น มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายบนหยักลึกเป็นแฉกหลายชั้น ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ปลายแฉกโค้งมนหรือแหลม ใบกาบช่วงบนเจริญแผ่กางขึ้นเป็นตะกร้า ขอบด้านบนแฉกหยักลึกเป็นแฉกหลายครั้ง ปลายมน ส่วนใบกาบช่วงล่างจะเจริญซ้อนทับใบกาบเก่าและโอบรัดสิ่งที่ยึดเกาะ ขอบใบเรียบหรืออาจหยักเว้าในบางต้น แผ่นใบเรียบ มีขนสั้นเป็นรูปดาวปกคลุมแน่น ส่วนเส้นใบเป็นร่างแห สีเขียวเข้มเจือสีน้ำเงิน มองเห็นได้ชัดเจน และขอบใบกาบรอบตายอดจะมีลักษณะเป็นจีบพับย่น ปิดคลุมยอดตาเหง้า ในระหว่างชั้นใบกาบ จะมีระบบรากเจริญแทรกเข้ามาอยู่ในระหว่างนั้น[1],[2]

ใบชายผ้าสีดา

  • ใบแท้หรือใบชายผ้า จะมีความยาวมากกว่า 50 เซนติเมตร มีลักษณะห้อยโค้งลงมา โคนก้านสั้น โคนใบเป็นแผ่นกว้าง แตกเป็นแฉก 2 ส่วน แฉกแรก จะอยู่ใกล้กับโคนใบ มีขนาดเล็กกว่าอีกชิ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า ส่วนอีกชิ้นจะอยู่ในระดับต่ำลงมา แต่ละส่วนจะแผ่กว้างออก ตรงกลางเว้า ขอบเรียบหรือเป็นแฉกในบางครั้ง ใต้ส่วนเว้าเป็นส่วนที่สร้างสปอร์ ริมขอบเว้า แตกเป็นแฉก ผอมเรียวประมาณ 3-4 ชั้น ปล่อยห้อยชายใบลงมา แผ่นใบหนาเกลี้ยง มีขนสั้นปกคลุมแน่นปกติ ใบชายผ้าจะเริ่มผลิออกมาทีละข้าง จนกระทั่งโตเต็มที่ และมักจะติดต้นประมาณ 1 ปี และจะแก่และหลุดไป[1],[2]

เฟิร์นชายผ้าสีดา

  • อับสปอร์ มีแถบสร้างสปอร์อยู่บริเวณเดียวตรงรอยเว้าที่โคน โดยใบชายผ้าแต่ละใบจะมีแผ่นสปอร์เกิดขึ้น 2 ตำแหน่ง คือ ที่ใต้ส่วนแฉกชิ้นบนและส่วนแฉกชิ้นล่าง เกิดบริเวณรอยเว้าของแต่ละชิ้น เมื่อสปอร์แก่ สปอร์จะทยอยปลิวออกไปเรื่อย ๆ ปกติสปอร์ซึ่งเกิดที่ใต้ใบชายผ้าที่งอกออกช่วงฤดูนั้น สปอร์จะแก่และพร้อมปลิวออกไปขยายพันธุ์ในต้นฤดูฝนของปีถัดไป[2]

รูปชายผ้าสีดา

หมายเหตุ : ชายผ้าสีดาที่กล่าวถึงในบทความจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากกับ Platycerium grandae, Platycerium wande, Platycerium superbum และอาจรวมถึง Platycerium coronarium (ห่อข้าวสีดา) ในบางต้น โดยเฉพาะตอนที่ต้นยังเล็ก แทบแยกชนิดออกได้ยากมาก ต้องรอจนต้นโต ดังนั้นลักษณะของใบชายผ้าจะเป็นตัวบ่งบอกที่เด่นชัดที่สุดว่าคือพันธุ์อะไร[2]

สรรพคุณของชายผ้าสีดา

  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบชายผ้าสีดาผสมกับใบแห้งกล้วยตีบ ใบเปล้าใหญ่ นำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้สูง (ใบ)[1]
  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบชายผ้าสีดานำมาผสมกับรากส้มชื่นและใบกล้วยง้วน แล้วนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้บวม (ใบ)[1]
  • ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบเฉพาะส่วนของชายผ้า นำมาต้มกับน้ำดื่ม รักษาอาการไม่สบายและอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอด (ใบในส่วนของชายผ้า)[1]

ประโยชน์ของชายผ้าสีดา

  • บ้างมีการนำส่วนของชายผ้ามาลวกให้สุก ใช้จิ้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก
  • ในด้านสมุนไพร ใบชายผ้าสีดาสามารถนำมาใช้เป็นยาแทนใบห่อข้าวสีดาได้[1]
  • เฟิร์นชนิดนี้คนเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพฯ นิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ โดยนำมาปลูกเลี้ยงติดไว้บนต้นไม้ ทำให้ดูเหมือนป่าธรรมชาติ ทำให้ดูใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แต่โดยมากแล้วชายผ้าสีดาชนิดนี้จะถูกชาวบ้านเข้าไปเก็บออกมาขาย และด้วยความที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์จากป่าธรรมชาติ เพราะเก็บออกมาขายตั้งแต่ต้นยังเล็ก ๆ อีกอย่างเฟิร์นชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ช้ามาก ต้นที่มีขนาดกว้างเท่าฝ่ามือ (ประมาณ 10 เซนติเมตร) ก็มีอายุราว 3 ปีกว่าเข้าไปแล้ว และกว่าจะโตได้ขนาดที่เหมาะสมสักต้น ก็ยิ่งจะต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ชายผ้าสีดา”.  หน้า 169.
  2. เฟิร์นสยาม.  “Platycerium holttumii”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fernsiam.com.  [27 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by John Steedman, retno s, Carlos Tatsuta, Andy)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด