ค่าหด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นค่าหด 8 ข้อ !

ค่าหด

ค่าหด ชื่อวิทยาศาสตร์ Engelhardtia spicata Lechen ex Blume[2], (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Engelhardtia aceriflora (Reinw.) Blume[1]) จัดอยู่ในวงศ์ค่าหด (JUGLANDACEAE)[1]

สมุนไพรค่าหด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข่าหด เก็ดลิ้น ฮ่อจั่น (จันทบุรี), ปอแก่นเทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ยมโดย (ภาคใต้), เก็ดลิ่น, ลบลีบ เป็นต้น[1]

ลักษณะของค่าหด

  • ต้นค่าหด จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงพุ่มกลม ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นหนาแตกเป็นร่องลึกสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีรอยแผลใบเห็นชัดเจน[1] พบขึ้นตามป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณทั่วไป ยกเว้นทางภาคใต้ ตั้งแต่ระดับ 500-1,500 เมตร[4]

ต้นค่าหด

รูปต้นค่าหด

  • ใบค่าหด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 1-6 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลมเรียว โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสาก ส่วนใบแก่ผิวเรียบ และจะทิ้งใบหมดก่อนออกดอก[1],[2]

ใบค่าหด

  • ดอกค่าหด ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ลักษณะห้อยลง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่กันคนละช่อ ดอกเพศผู้จะรวมกันเป็นช่อสั้นแบบหางกระรอก ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่รวมกันเป็นช่อห้อยลงมา แต่ละดอกจะมีกาบบาง ๆ เป็นรูปแฉกสามเหลี่ยมสีเหลืองอ่อนรองรับ และกาบนี้จะเจริญต่อไปเป็นผล[1],[2]

ดอกค่าหด

รูปค่าหด

  • ผลค่าหด ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนแข็งสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมแน่น มีใบประดับเป็นกาบปลายแยกเป็นสามแฉกบาง ๆ ติดอยู่ ง่ามกลางจะยาวที่สุดประมาณ 4 เซนติเมตร[1],[2]

ผลค่าหด

สรรพคุณของค่าหด

  1. เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาอาการปวดฟัน (เปลือกต้น)[3]
  2. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นค่าหดนำมาฝนกับต้นมะขามป้อม ใช้กินหลังคลอดเป็นยาคุมกำเนิด (ลำต้น)[1],[2]
  3. เปลือกต้นนำมาต้มให้หญิงหลังคลอดบุตรอาบ ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็ว (เปลือกต้น)[3]
  4. เปลือกต้นนำมาต้มอาบเป็นยารักษาตุ่มคันในเด็ก (เปลือกต้น)[3]
  5. เปลือกต้นนำไปผิงไฟอุ่น แล้วนำมาทาแผล เป็นยาสมานแผลอักเสบ (เปลือกต้น)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของค่าหด

  • สารสกัดจากทั้งต้นค่าหดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการเจริญของก้อนเนื้องอกได้เล็กน้อย[1],[2]
  • สารสกัดจากเปลือกแห้งด้วยแอลกอฮอล์ ทำให้น้ำอสุจิรวมตัวตกตะกอนในหลอดทดลอง[1],[2]

ประโยชน์ของค่าหด

  • เปลือกต้นใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำที่ทนต่อความแห้งแล้งและไฟป่า[4]
  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้ดี[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “ค่าหด”.  หน้า 85.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ค่าหด”.  หน้า 102.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ค่าหด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [20 ม.ค. 2015].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “คำหด”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวนพฤกษศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [20 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nilesh & Dhana), www.gotoknow.org (by สุญฺญตา), www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด