18 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคำเตี้ย ! (หญ้าปีกไก่ดำ)

คำเตี้ย

คำเตี้ย ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygala chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ต่างไก่ป่า (POLYGALACEAE)[1],[2]

สมุนไพรคำเตี้ย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มักกำ (เชียงใหม่), ม้าอีก่ำ ม้าอีก่ำแดง (อุบลราชธานี), ถั่วสลัม, ปีกไก่ดำ, ม้าแม่ก่ำ, หญ้ารากหอม, เนียมนกเขา, เตอะสิต่อสู่, หญ้าปีกไก่ดำ เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของคำเตี้ย

  • ต้นคำเตี้ย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงฤดูเดียว มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะต้นตรงหรือทอดเลื้อยและชูยอดขึ้น ตรงปลายกิ่งเป็นเหลี่ยม ลำต้นกลมและมีขนขึ้นปกคลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.7-2.5 เซนติเมตร รากมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสน และบริเวณที่โล่งในป่าดิบแล้ง[1],[2],[3]

ต้นคำเตี้ย

  • ใบคำเตี้ย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมไข่กลับถึงรูปใบหอกปลายใบมน เรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มและรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวหรือออกม่วง ก้านใบยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1]

ใบคำเตี้ย

  • ดอกคำเตี้ย ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีประมาณ 5-16 ดอก กลีบดอกเป็นสีขาวครีม มี 3 กลีบ เชื่อมกันที่ฐาน กลีบดอกมีลักษณะคล้ายรูปดอกถั่ว สีขาว โคนกลีบเป็นสีเขียว กลีบบนมี 2 กลีบ ลักษณะเป็นรูปช้อนหรือรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบล่างมี 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปเกือบมน มีรยางค์คล้ายแปรง ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน ติดกับกลีบดอก ไม่มีจานฐานดอก เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ขอบเป็นขนครุย มี 2 คาร์เพล ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวมี 4 อัน แยกกัน มี 2 ชั้น มีขนที่ขอบกลีบเลี้ยง กลีบคู่ล่างมี 2 กลีบ คล้ายกลีบดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1]

ม้าแม่ก่ำ

ดอกคำเตี้ย

  • ผลคำเตี้ย ผลเป็นผลแห้งแตกแบบแคปซูล ลักษณะแบน มีกลีบเลี้ยงติดทน ภายในมีเมล็ดสีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ด เมล็ดมีเยื่อที่ขั้ว[1]

สรรพคุณของคำเตี้ย

  1. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นคำเตี้ย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม (ทั้งต้น)[1] หรือจะใช้รากนำมาต้มหรือดองกับเหล้ากินก็ได้ โดยอาจใส่น้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อทำให้กินได้ง่ายขึ้น แต่การดองควรนำไปตากแห้งก่อน (ราก)[3]
  2. คำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำจัดว่าเป็นยาม้าของคนไทยใหญ่เลยก็ว่าได้ โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน จะช่วยบำรุงกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ดังนั้นในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่น ๆ ในตำรับก็ได้ ใช้ได้ทั้งการต้มและดองกับเหล้ากิน เช่น พ่อสายแดดจะมีตำรับยากำลังม้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด (ราก, ทั้งต้น)[3]
  1. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้หวัด (ทั้งต้น)[3]
  3. ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ ไอหนัก ๆ ช่วยขับเสมหะเหนียวข้นให้ออกมาได้โดยง่าย (ราก, ทั้งต้น)[1],[3]
  4. ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด (ราก, ทั้งต้น)[1],[3]
  5. ตำรับยาแก้หัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
  6. ตำรับยาแก้ฝีในท้องจะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
  7. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[2]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ผสมกับลำต้นม้ากระทืบโรง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ (ทั้งต้น)[1],[2]
  9. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[1]
  10. ทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันงา นำมานวดเส้น (ทั้งต้น)[1]
  11. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[1]
  12. ต้นคำเตี้ยเป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยารักษามะเร็งของหมอสมหมาย ทองประเสริฐ ซึ่งในตำรับยาจะเรียกว่า หญ้าปีกไก่ดำหรือม้าอีก่ำ โดยส่วนประกอบทั้งหมดของยาตำรับนี้ ได้แก่ คำเตี้ยหรือปีกไก่ดำ (Polygala chinensis L.), เหง้าพุทธรักษา (Canna indica Linn), ไฟเดือนห้า (Ludwigia hyssopifolia (G.Don) well), พญายอ (Clinacanthus nutan Lindl.), เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus), แพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus CL.), ข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth C) และข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra)[3]
  13. คำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำจัดอยู่ในเภสัชตำรับของอินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indian Senega และมีชื่อจีนว่า Yuan Zhi โดยจัดเป็นหนึ่งใน 50 สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด มีสรรพคุณเด่นคือการเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ใช้รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด กังวล นอนไม่หลับ หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคำเตี้ย

  • สารสกัดน้ำจากทั้งต้นคำเตี้ยมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเนื้องอกในหนู และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง[1],[2]
  • นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ และช่วยต้านการอักเสบ[3]

ประโยชน์ของคำเตี้ย

  1. ใช้เป็นอาหารสัตว์ในสวนป่า[2]
  2. คนโบราณจะใช้รากตำใส่ขมิ้นสด ใช้ทาตัวให้ตัวมีกลิ่นหอมและกันยุง[3]
  3. ในปัจจุบันมีการซื้อขายสมุนไพรชนิดนี้ในตลาดโลกเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพร ซึ่งในไต้หวันและอินเดียจะมีบริษัทที่ทำการส่งออกม้าแม่ก่ำเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ออสเตรเลียมีมาตรฐานการนำเข้าสมุนไพรชนิดนี้ด้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “คำเตี้ย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [20 ม.ค. 2015].
  2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “คำเตี้ย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [20 ม.ค. 2015].
  3. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “ม้าแม่ก่ำ ยาม้าของคนป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com.  [20 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด