ขี้อ้าย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้อ้าย 14 ข้อ !

ขี้อ้าย

ขี้อ้าย ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia nigrovenulosa Pierre[2],[4] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Terminalia hainanensis Exell, Terminalia obliqua W. G. Craib, Terminalia triptera Stapf, Terminalia tripteroides W. G. Craib)[1],[4] จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[2]

สมุนไพรขี้อ้าย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำจาย (เชียงใหม่), สลิว (ตาก), แสนคำ แสงคำ สีเสียดต้น (เลย), หนามกราย (นครราชสีมา), หอมกราย (จันทบุรี), ขี้อ้าย หานกราย (ราชบุรี), เบน เบ็น (สุโขทัย), มะขามกราย หามกราย หนามกราย (ชลบุรี), ประดู่ขาว (ชุมพร), แฟบ เบ็น (ประจวบคีรีขันธ์), ตานแดง (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, สงขลา), คำเจ้า พระเจ้าหามก๋าย พระเจ้าหอมก๋าย ปู่เจ้า ปู่เจ้าหามก๋าย สลิง ห้ามก๋าย (ภาคเหนือ), แสงคำ แสนคำ สังคำ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กำจำ (ภาคใต้), แนอาม (ชอง-จันทบุรี), หนองมึงโจ่ หนองมึ่งโจ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของขี้อ้าย

  • ต้นขี้อ้าย จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-25 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ส่วนโคนต้นที่มีพูพอนขนาดเล็ก มักมีกิ่งย่อยรอบ ๆ ลำต้นทางด้านล่าง และจะร่วงโรยไปเมื่อแก่ เมื่อสับจะมียางสีแดงส้มชัดเจน เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา และมีรอยแตกตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน กระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และในคาบสมุทรมลายู ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพ ป่าดงดิบแล้งบนเขาหินทรายและหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร ชอบแสงแดดจัด[1],[2],[4],[5]

กราย

ต้นขี้อ้าย

  • ใบขี้อ้าย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือออกเกือบตรงกันข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมหนึ่งคู่ที่บริเวณขอบใบใกล้ ๆ กับโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใบอ่อนปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลหนาอ่อนหนาแน่น และจะร่วงไปเมื่อใบมีอายุมากขึ้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-10 เส้น ใบแก่ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง ก้านใบมีขนาดเล็กเรียวและยาวได้ประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบขี้อ้าย

  • ดอกขี้อ้าย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออก 3-6 ช่อ ตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ขนาดยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แกนกลางช่อมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกย่อยช่อเชิงลดยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 4-5 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม มีใบประดับเป็นรูปเส้นด้าย ยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉกรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกไม่มี ด้านในมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง อับเรณูติดไหวได้ จานฐานดอกขอบหยักมน มีขนยาวหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีช่อง 1 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2-3 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[4]

ดอกขี้อ้าย

  • ผลขี้อ้าย ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ขอบขนาน หรือเบี้ยว ผลมีปีก 3 ปีก ปีกบาง แต่ละปีกทำมุมเกือบเท่ากัน สีน้ำตาลอ่อน เปลือกผลเหนียว ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะไม่แตกออก ขนาดของผลรวมทั้งปีกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีขาว มีลักษณะเป็นรูปรี โดยจะออกผลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[4]

ผลขี้อ้าย

สรรพคุณของขี้อ้าย

  1. เปลือกมีรสฝาด ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือก)[1]
  2. เปลือกใช้กินกับหมาก แก้ปากเปื่อย (เปลือก)[5]
  3. เปลือกใช้เป็นยากล่อมเสมหะและอาจม (เปลือก)[6],[8]
  1. ผลมีรสฝาด ใช้เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษ (ผล)[8]
  2. เปลือกใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง (เปลือก, ผล)[1],[8] หากมีอาการท้องร่วงอย่างแรง เป็นบิด ปวดเบ่ง ท้องเดิน ให้นำผลมารับประทานก็จะหาย (ผล)[6]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือก)[1]
  4. ใช้เป็นยาคุมธาตุและให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง (เปลือก)[6],[8]
  5. ผลใช้เป็นยาแก้อุจจาระเป็นมูกเลือด (ผล)[8]
  6. เปลือกใช้ภายนอกเอาน้ำต้มเปลือกใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด (เปลือก)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้อ้าย

สมุนไพรขี้อ้าย

  • จากการศึกษาสารสกัดจากลำต้นด้วย 50% แอลกอฮอล์ พบว่ามีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ที่เป็น hydrolysable tannins มีฟลาโวนอยด์ทั้งประเภท anthocyanidin, leucoanthocyanidin, catechin และ aurone และมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ โดยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง (EC50 = 6.55มก./มล.) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา ที่ความเข้มข้น 2-4 มก./มล. ที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ความเข้มข้น 0.78 มก./มล. ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ความเข้มข้น 0.39 มก./มล. ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในช่องปาก และต้านเชื้อ V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Shigella และ Salmonella ที่ความเข้มข้น 12.5 มก./มล. ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงและมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 21.65 มก./มล.)[5]
  • สารสกัดจากขี้อ้ายไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์ แต่สามารถลดฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ของสารมาตรฐานที่ทดสอบได้ดีเมื่อมีการทำงานของเอนไซม์ในตับร่วมด้วย โดยจะมีค่า IC50 เท่ากับ 10.24 และ 8.77 มก./plate นอกจากนี้ยังสามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ ที่ความเข้มข้น 3.13-200 มก./มล. มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับในระดับปานกลาง (IC50 = 148.7±12.3 มก./มล.) แต่ยังพบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติเช่นกัน และยังพบว่ามีความสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตับตายแบบอะพอพโทซิส เมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน[5]

ประโยชน์ของขี้อ้าย

  1. เปลือกต้นมีรสฝาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้กินกับหมากแทนสีเสียดได้[2],[4]
  2. เยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน ใช้รับประทานได้[7]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลือง[3]
  4. น้ำยางใช้หยอดประทานด้ามมีดแทนครั่ง[3]
  5. ไม้ขี้อ้ายเป็นไม้เนื้อแข็งค่อนข้างหนัก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ต่อเรือ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรมได้[2],[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขี้อ้าย”.  หน้า 146-147.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขี้อ้าย”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [29 ม.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขี้อ้าย, ปู่เจ้า”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [29 ม.ค. 2015].
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้อ้าย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [29 ม.ค. 2015].
  5. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  “แสนคำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : orip.kku.ac.th/thaiherbs.  [29 ม.ค. 2015].
  6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กราย”.  หน้า 40.
  7. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ปู่เจ้า, ขี้อ้าย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com.  [29 ม.ค. 2015].
  8. หนังสือคัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์.  (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).  “กราย”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kimsoft), www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด