19 วิธีแก้ก้างปลาติดคอ (เศษกระดูกติดคอ) สูตรไหนได้ผลมาดู !!

ก้างปลาติดคอ

ก้างติดคอ (Fishbone Stuck in the Throat) หรือ เศษกระดูกติดคอ (ที่พบบ่อยคือ กระดูกไก่ติดคอ – Chicken bone Stuck in the Throat) สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาว่าเป็นช่วงอายุใดมากที่สุดและเป็นก้างปลาชนิดใดมากที่สุด แต่ที่พบได้บ่อยก็เห็นจะเป็นก้างปลาทู ซึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนนิยมบริโภคมากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ส่วนปลาอื่น ๆ ก็มีมาให้เห็นบ้างแต่พบได้ไม่บ่อย ส่วนมากผู้ป่วยที่มาหาหมอ ก้างปลามักจะติดคอมาแล้ว 2-3 วัน ที่ติดคอปุ๊บแล้วมาหาหมอทันทีจะมีน้อย และส่วนใหญ่จะรู้วิธีเบื้องต้นว่า ต้องดื่มน้ำมาก ๆ หรือกลืนข้าวคำโต ๆ ซึ่งในบางรายก็อาจใช้วิธีนี้ได้ผล เนื่องจากก้างปลาปักอยู่บริเวณตื้น ๆ พอกลืนข้าวก้างปลาก็ติดลงไปในกระเพาะอาหารและสามารถขับถ่ายออกมาทางอุจจาระได้ แต่ในรายที่ก้างปลาปักลึกมาก การกลืนข้าวคำโต ๆ อาจทำให้ไปกดก้างปลาให้ปักลึกลงไปกว่าเดิมได้ เมื่ออาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยจึงมาหาหมอ

ก้างปลาหรือเศษกระดูกอาจติดได้ตั้งแต่เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอหอย โคนลิ้น ฝาปิดกล่องเสียง หรือติดอยู่ในหลอดอาหารก็ได้ แต่ตำแหน่งที่พบก้างปลาติดบ่อย ๆ เห็นจะเป็นบริเวณข้าง ๆ ต่อมทอนซิล บริเวณโคนลิ้น บริเวณฝาปิดกล่องเสียง บริเวณใกล้หลอดรูเปิดทางเดินอาหาร

หมายเหตุ : นอกจากก้างปลาหรือเศษกระดูกไก่/เป็ด/หมูแล้ว สิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ก็สามารถติดคอได้เช่นกัน เช่น เนื้อสัตว์ที่เคี้ยวไม่ละเอียด, ฟันปลอม, คลิปเย็บกระดาษ, ไม้กลัด, เหรียญสตางค์ต่าง ๆ เช่น เหรียญบาท, แบตเตอรี่นาฬิกา เป็นต้น

อาการก้างปลาติดคอ

เมื่อก้างปลาหรือเศษกระดูกติดคอ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บในคอและกลืนลำบากทันทีในขณะรับประทานอาหาร ถ้าเป็นก้างปลาขนาดเล็ก ๆ อาจจะหลุดได้เองในเวลาต่อมา หรืออาจหลุดได้ด้วยการกลืนข้าวสุกหรือขนมปังนิ่ม ๆ แต่ถ้าก้างปลาหรือเศษกระดูกนั้นมีขนาดใหญ่ก็อาจติดคาอยู่ ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณนั้น ๆ เมื่อยิ่งกลืนก็ยิ่งเจ็บ และถ้าติดอยู่เป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ เป็นหนองและมีไข้ได้ รวมทั้งอาจมีเลือดออกมาปนกับน้ำลายหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ด้วย แต่โดยปกติแล้วเมื่อก้างปลาติดคอมักจะไม่ค่อยมีผลทำให้เสียงเปลี่ยน ยกเว้นในกรณีที่อาการอักเสบลุกลามไปที่กล่องเสียง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาของการออกเสียงและมีปัญหาเรื่องของการหายใจตามมาได้

อาการก้างติดคอ

ในกรณีที่ก้างปลาติดอยู่ในหลอดอาหารและผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น หลอดอาหารทะลุมีหนองลามเข้าไปในช่องอกและเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่รู้สึกว่ามีอาการ

วิธีแก้ก้างปลาติดคอ

  1. การดื่มน้ำตามอึกใหญ่ ๆ เพราะน้ำอาจช่วยพัดก้างปลาให้หลุดได้ หรือถ้าก้างปลาอยู่ไม่ลึกมาก เช่น อยู่ตรงบริเวณลำคอส่วนบนและทอนซิล ก็ให้ใช้น้ำกลั้วคอแรงพอสมควร (ไม่ใช่อมบ้วนปากนะครับ) โดยต้องเงยหน้าขึ้นแล้วทำเสียงคร้อก ๆ ประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วค่อยบ้วนทิ้ง แล้วให้ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง ถ้าก้างปลาปักคอไม่ลึกมาก การใช้วิธีนี้ก็อาจช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาได้ครับ
  1. การดื่มน้ำมะนาว ให้ใช้น้ำคั้นมะนาวสด ๆ ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ นำมาอมไว้แล้วค่อย ๆ กลืนหรือดื่มเข้าไป ซึ่งน้ำมะนาวที่มีฤทธิ์เป็นกรดอาจจะช่วยทำให้ก้างปลาอ่อน ๆ นิ่มขึ้นได้บ้าง และเป็นผลทำให้ก้างปลาหลุดออกได้ง่ายขึ้น (น้ำมะนาวไม่สามารถทำให้ก้างปลาละลายได้ เพราะก้างปลานั้นเป็นกระดูกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่จะละลายได้ง่าย ๆ และคงไม่มียากินชนิดใดที่จะสามารถละลายก้างปลาได้ด้วยเช่นกัน)
  2. การดื่มน้ำส้มสายชู เป็นวิธียอดนิยมที่ใช้กันในประเทศจีน โดยการนำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำให้เจือจางแล้วดื่ม ซึ่งกรดของน้ำส้มสายชูจะช่วยทำให้ก้างปลาอ่อนนิ่มลงได้ (หลักการเดียวกันกับน้ำมะนาว) แต่ควรจะผสมในระดับที่เจือจางมาก เพราะหากผสมเข้มข้นเกินไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองคอยิ่งไปกว่าเดิมได้
  3. กลืนข้าวคำโต ๆ ถ้าเป็นข้าวเหนียวก็จะยิ่งดี แต่ถ้าไม่มีข้าวเหนียวจะใช้ข้าวเจ้าแทนก็ได้ครับ โดยการนำมาปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ ขนาดเท่าลูกชิ้นลูกเล็ก ๆ แล้วกลืนลงไปทั้งก้อนสักประมาณ 2-3 คำ (ไม่ต้องเคี้ยวนะครับ เพราะเราหวังจะให้ก้อนข้าวที่กลืนลงไปนั้นช่วยดันก้างปลาที่ติดอยู่ในคอให้หลุดลงไปในท้อง) แต่บางแห่งจะให้อมน้ำมะนาวเพื่อให้ก้างปลานิ่มก่อนแล้วจึงค่อย ๆ กลืนข้าวเหนียวเพื่อดันให้ก้างปลาหลุดไป
  4. การกลืนขนมปังนิ่ม ๆ เช่น ขนมปังปอนด์ ขนมสาลี่ เพราะขนมปังอาจช่วยทำให้ก้างปลาที่ติดอยู่ในคอหลุดออกได้ เพียงแค่กลืนก้อนขนมปังนิ่ม ๆ โดยไม่ต้องเคี้ยว สักประมาณ 2-3 คำ แล้วดื่มน้ำตาม ก้างปลาอาจจะหลุดไปได้เอง แต่หากทำแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือเป็นก้างปลาขนาดใหญ่ อย่าพยายามเขี่ยหรือดึงออกเอง แต่ควรรีบไปพบแพทย์
  5. การกลืนกล้วย (เพื่อหวังให้ก้างปลาติดไปกับเนื้อกล้วยลงไปในท้อง) หากไม่มีข้าวเหนียวและขนมปังคุณอาจลองนำกล้วยสุกมาหั่นเป็นชิ้นขนาด 1/4-2/4 ลูก (แล้วแต่ขนาดของกล้วย) นำมาอมไว้ในปากสัก 1-2 นาที แล้วจึงค่อย ๆ กลืนลงไปโดยไม่ต้องเคี้ยวก็ได้
  6. การกลืนมาร์ชเมลโล่ (เพื่อหวังให้เนื้อเหนียว ๆ ของขนมชนิดนี้จะไปติดกับก้างปลาในคอและช่วยให้ก้างปลาหลุดลงไปในท้องได้) โดยแค่รับประทานมาร์ชเมลโล่ครั้งละเยอะ ๆ และค่อย ๆ เคี้ยวขนมมาร์ชเมลโล่จนเริ่มเหนียว จากนั้นจึงค่อยกลืนลงไปในคอ
  7. การรับประทานถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วอัลมอนด์ ถั่ววอลนัท ถั่วพีแคน ถั่วลิสง เป็นต้น เพียงแค่นำมารับประทานครั้งละมาก ๆ ให้เต็มปาก จากนั้นเคี้ยวให้ละเอียดแล้วจึงค่อย ๆ กลืนลงคอไป โดยหวังว่าเนื้อหยาบ ๆ ของถั่วจะช่วยดันก้างปลาให้ลงไปในท้องได้ (ต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ถ้ากลืนลำบากให้ดื่มน้ำตาม)

    วิธีเอาก้างปลาออกจากคอ
    IMAGE SOURCE : www.newhealthadvisor.com

  8. การใช้นิ้วล้วงหรือเขี่ยออก ถ้าก้างปลาติดอยู่ในคอไม่ลึกมาก อาจใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งที่สะอาดเข้าไปจับแล้วดึงหรือเขี่ยออกมาได้ แต่วิธีนี้จะเหมาะสำหรับคนนิ้วเล็กที่สามารถใช้นิ้วสอดเข้าไปในปากได้ลึกและไม่มีรีเฟล็กซ์ขย้อน (Gag reflex) กล่าวคือ ถ้าเป็นคนที่มีรีเฟล็กซ์ขย้อนสูง พอมีอะไรมาถูกบริเวณโคนลิ้นหรือคอก็จะรู้สึกอยากขย้อนและอาเจียนออกมา ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่เหมาะที่จะใช้วิธีนี้ครับ (แพทย์บางท่านจะไม่แนะนำให้ใช้มือนิ้วล้วงออก เพราะในกรณีที่ก้างปลามีขนาดใหญ่อาจจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ก้างปลาฝังอยู่เกิดอาการบวมแดงและเอาออกได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการอักเสบและติดเชื้อตามมาได้)
  9. การล้วงคอ ในกรณีที่ก้างปลามีขนาดเล็ก ผู้ปกครองสามารถใช้นิ้วสะอาด ๆ หรือตะเกียบกดที่โคนลิ้นด้านในให้เด็กอาเจียนออกมาเอง ถ้าเด็กสามารถอาเจียนออกมาหมดได้ในคราวเดียวจะดีมาก เพราะก้างปลาเล็กจะติดออกมาพร้อมกับอาเจียน (แต่ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าก้างปลามีขนาดเล็กหรือใหญ่ ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กทานอะไรตามลงไป และห้ามให้เด็กพยายามอาเจียนออกมา แต่สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล)
  10. การใช้อุปกรณ์คีบออกเอง ในกรณีที่อ้าปากแล้วมองเห็นก้างปลาหรือเศษกระดูกติดอยู่ที่คอหรือต่อมทอนซิลอย่างชัดเจน (ส่วนมากมักจะติดอยู่ข้าง ๆ ทอนซิล) ก็สามารถใช้ไฟฉายส่องดูภายในลำคอ (อาจเป็นไฟฉายส่องกบที่สวมติดกับศีรษะก็ได้ครับ จะได้ง่ายหน่อย) แล้วจึงใช้ช้อนหรือแผ่นไม้กดลิ้นลงด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วใช้อุปกรณ์คีบออกด้วยมืออีกข้างหนึ่ง (เช่น คีมหรือปากคีบ (Forceps) หรือถ้าเป็นนักคีบตะเกียบมือฉมังก็อาจจะใช้ตะเกียบแทนก็ได้ครับ)
  11. วิธีอื่น ๆ นอกจากวิธีพื้นฐานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีวิธีพื้นบ้าน (หรือความเชื่อ) อื่น ๆ อีกหลายวิธี ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับบางคน แต่คนส่วนใหญ่กลับใช้ไม่ได้ผล เช่น
    • การกลืนอาหารแข็ง ๆ เพื่อหวังให้ก้างปลานั้นหลุดออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะอาจทำให้ก้างปลาทิ่มลึกลงไปในเนื้อเยื่อนั้น ๆ มากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ทำครับ
    • การดื่มน้ำอุ่นจัด 1 แก้วใหญ่ เพื่อหวังจะให้ก้างปลาอ่อนนิ่มลง (แต่บางสูตรอาจให้ดื่มน้ำเย็น)
    • การดื่มน้ำผสมน้ำมันมะกอก โดยการนำน้ำมันมะกอกมาต้มกับน้ำแล้วค่อย ๆ ดื่มตอนที่ยังอุ่น ๆ เพื่อหวังให้น้ำมันมะกอกเข้าไปเคลือบในลำคอและทำให้ก้างปลาหลุดออกและช่วยรักษาแผลที่เกิดจากก้างปลา
    • การเอาอุ้งเท้าแมวมาเขี่ยที่ผิวหนังบริเวณลำคอ (แบบนี้ก็ได้หรอ) เนื่องจากเชื่อว่า แมวชอบกินปลา แล้วก็มีอีกสารพัดความเชื่อครับ (พูดไปคงไม่จบแน่ ๆ)
    • การใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนของต้นปอกระสา (Broussonetia papyrifera (L.) L’Hér. ex Vent.) นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำแล้วกลืนลงไปในคออย่างช้า ๆ (ชาวบ้านมักเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยละลายก้างปลาให้หลุดลงไปในกระเพาะอาหารได้โดยไม่มีอันตราย)
    • การใช้ใบบัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ นำมาต้ม แล้วกลืนน้ำลงไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ชาวบ้านเชื่อว่า วิธีนี้จะช่วยละลายก้างปลาให้หลุดออกจากลำคอได้
    • การใช้เมล็ดเทียนบ้าน (Impatiens balsamina L.) ในกรณีที่กระดูกไก่ติดคอ ให้ใช้เมล็ดเทียนบ้านนำมาตำให้ละเอียดแล้วค่อย ๆ กลืนลงไป โดยระวังอย่าให้ถูกฟัน หรือจะใช้รากสด ๆ นำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนลงไปอย่างช้า ๆ ใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปาก เพื่อป้องกันฟันเสีย (เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ละลายกระดูกและฟันได้) แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์
  12. ไปพบแพทย์หู คอ จมูก ในกรณีที่มองไม่เห็นก้างปลาหรือสงสัยว่า มีก้างปลาหรือเศษกระดูกชิ้นใหญ่ติดคออยู่ และใช้สารพัดวิธีข้างต้นมาทุกกระบวนท่าแล้วก็ยังไม่สามารถจัดการเอาก้างปลาหรือเศษกระดูกที่ติดอยู่ออกมาได้ ก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลครับ โดยเฉพาะแพทย์หู คอ จมูก ที่จะเป็นผู้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด (โดยการใช้เครื่องมือส่องเข้าไปในลำคอแล้วคีบเอาก้างปลาหรือเศษกระดูกนั้นออกมา)
    • เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติถามวันเวลาที่เกิดเหตุ ลักษณะของก้างปลาหรือเศษกระดูก ตำแหน่งที่เจ็บว่าอยู่ลึกขนาดไหน อยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวา
    • แพทย์จะอธิบายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ถ้าผู้ป่วยยังสามารถกินอาหารได้ กลืนข้าวกลืนน้ำได้ ก็ยังไม่เป็นอันตรายร้ายแรง เพราะก้างปลาหรือเศษกระดูกยังไม่หลุดเข้าไปคาอยู่ในหลอดอาหาร หรือถ้าผู้ป่วยสามารถพูดคุยได้เป็นปกติโดยไม่มีอาการไอ ก็แสดงว่ายังไม่หลุดเข้าไปในหลอดลม และถ้ามีก้างปลาติดอยู่จริงก็มักจะไม่เห็นเป็นเส้นขนานแบบนี้ — (แบบในรูป) แต่จะเห็นเป็นจุด . (เพราะก้างปลามักจะปักลึกเข้าไปแล้วเหลือโผล่ไว้ให้เห็นส่วนปลายเพียงน้อย) ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องนั่งอยู่นิ่ง ๆ อย่าขยับในขณะหมอตรวจ และไม่ต้องช่วยหมอด้วยการยกลิ้นหรือแลบลิ้นอะไรทั้งสิ้น เพราะหมอจะมองไม่เห็น ให้นั่งอยู่เฉย ๆ อย่าขยับและทำตามคำแนะนำของหมอจะดีที่สุด ถ้ามีก้างปลาติดอยู่หมอก็จะคีบออกให้เอง แต่ถ้าไม่มีก็คือไม่มีครับ (เนื่องจากเวลาเกิดบาดแผล ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือรู้สึกคล้ายมีอะไรมาทิ่มอยู่เวลากลืนได้ ซึ่งอาการแบบนี้อาจเป็นอยู่หลายวันกว่าจะหายไปได้เอง แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่มักย้ำว่า เมื่อเอามือล้วงไปยังเจออยู่ก็ตาม แต่ก็ขอให้เชื่อหมอเถอะครับ เพราะหมอรู้เรื่องกายวิภาคในช่องคอและพยาธิสภาพที่ก้างจะติดคอได้ดีที่สุด)

      ก้างติดคอทำไง
      IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by drrahmatorlummc)

    • เมื่อมาถึงขั้นตอนสำคัญ คือ การส่องตรวจดูว่า ก้างปลาหรือเศษกระดูกติดอยู่ตรงตำแหน่งใด โดยแพทย์จะใช้ไฟสวมศีรษะที่มีแสงสว่างพอสมควร แล้วใช้ไม้กดลิ้นและที่เขี่ยตรวจดูตามร่องหลืบต่าง ๆ หรือถ้าอยู่ลึกมากก็อาจต้องใช้กระจกส่องตรวจเข้าไปในกล่องเสียง ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีกล้องส่องตรวจพิเศษแบบหักมุม 70-90 องศาฯ ก็จะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนและตรวจได้ง่ายขึ้น ถ้าก้างปลาหรือเศษกระดูกติดอยู่เหนือกล่องเสียงหรือลูกกระเดือกขึ้นมา แพทย์หู คอ จมูก ก็สามารถใช้เครื่องมือที่โค้งงอเป็นพิเศษคีบออกมาได้ แต่ถ้าติดอยู่ลึกกว่าลูกกระเดือกลงไป ก็คงต้องใช้การเอกซเรย์ช่วยตรวจด้วย

      ก้างติดคอทําไง
      IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by Dr Paulose)

    • สำหรับความยากง่ายในการคีบออกนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของก้างปลาหรือเศษกระดูกว่าใหญ่เพียงใด ตำแหน่งที่คิดว่าอยู่ลึกหรือซ่อนในร่องหลืบลึกลับขนาดไหน ซึ่งก็จะมีเครื่องมือในการคีบหลายแบบหลายมุมให้เลือกใช้ และสุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยบางรายที่คอไวจะคีบออกมาได้ยากมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะรู้สึกอยากอาเจียน ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องพ่นยาชาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที เพื่อให้ผู้ป่วยชาและมีรีเฟล็กซ์ขย้อนน้อยลงก่อน แล้วจึงพยายามอีกที แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ทำอย่างไรก็ไม่ออก ก็อาจจำเป็นต้องดมยาสลบให้ผู้ป่วยนอนแล้วลองดูอีก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเอาก้างปลาออกได้ที่ห้องตรวจเลย ในรายที่ต้องดมยาสลบนั้นมีน้อยรายมาก (ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่ต้องดมยาสลบจะแพงมากเป็นหลักหมื่นบาทขึ้นไป)

      วิธีแก้ก้างติดคอ
      IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by Okada Kazuhiko)

ข้อควรปฏิบัติเมื่อก้างปลาติดคอ

  • ห้ามใช้อุปกรณ์แหย่ลงในคอเพื่อเขี่ยเอาก้างปลาออกมา เพราะอาจจะทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เขี่ยหลุดลงไปในคอและเกิดอันตรายได้
  • หลีกเลี่ยงการนวดหรือบีบบริเวณคอด้านนอก เพราะจะยิ่งทำให้ก้างปลาทิ่มลึกลงไปมากกว่าเดิมและเอาออกมาได้ยาก อีกทั้งยังอาจทำให้รู้สึกมากขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงการไอหรือการยืดคอ เพราะอาจจะทำให้ก้างปลาที่ติดอยู่ในคอหลุดลงไปในหลอดอาหารจนเป็นอันตรายกับหลอดอาหารได้
  • อย่าปล่อยให้ก้างปลาติดคอนานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองได้
  • หากใช้วิธีแก้ข้างต้นมาทุกกระบวนท่าแล้วยังไม่สามารถเอาก้างปลาหรือเศษกระดูกออกได้ แถมยังรู้สึกระคายเคืองที่คอมากขึ้นกว่าเดิม หนทางสุดท้ายที่ควรทำคือการไปพบแพทย์ เพราะหากมัวแต่รักษาด้วยตัวเองก็อาจจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือเกิดอาการอักเสบได้ ซึ่งคราวนี้ก็คงต้องกินยารักษาไปอีกนานเลยครับกว่าจะหาย
  • หากคอเกิดอาการบวมและเริ่มหายใจลำบาก ควรหยุดนำก้างปลาออกด้วยตัวเองแล้วรีบไปพบแพทย์ด่วน

เห็นไหมครับว่า แค่เพียงก้างปลาชิ้นเล็ก ๆ ก็อาจทำให้คุณต้องพบปัญหาและปวดหัวกับวิธีการเอาออกหลากหลายขั้นตอน ดังนั้นเวลาจะรับประทานอะไรก็ต้องมีสติทุกครั้ง พยายามเอาก้างปลาออกก่อน แล้วค่อย ๆ เคี้ยว ค่อย ๆ กลืน เพราะจากที่เคยสอบถามมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะกินไปคุยไปโดยไม่ทันได้ดูว่า ปลาที่กำลังตักใส่ปากนั้นมีก้างติดอยู่หรือไม่ พอรีบเคี้ยวรีบกลืนก็เลยทำให้ก้างปลาติดคอ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด