กาแฟ สรรพคุณและประโยชน์ของกาแฟ 40 ข้อ ! (Coffee)

กาแฟ

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำมาจากเมล็ดซึ่งได้จากต้นกาแฟ หรือที่มักเรียกว่า เมล็ดกาแฟคั่ว ในปัจจุบันมีการปลูกกาแฟมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว ซึ่งเป็นกาแฟที่ไม่ผ่านการคั่วก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการเกษตรที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก และในปัจจุบันกาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดด้วย

สำหรับสายพันธุ์หลักของกาแฟที่ปลูกกันทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กาแฟอาราบิก้า (Coffee arabica) และ กาแฟโรบัสต้า (Coffee canephora) โดยกาแฟอาราบิก้าจะเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมในการดื่มมากกว่ากาแฟโรบัสต้า เนื่องจากกาแฟโรบัสต้ามีรสชาติที่ขมกว่าและให้รสชาติได้น้อยกว่ากาแฟอาราบิก้า ด้วยเหตุผลนี้ กาแฟที่เพาะปลูกกันเป็นจำนวนมากกว่า 3 ใน 4 ของโลก จึงเป็นกาแฟอาราบิก้า

แต่อย่างไรก็ตามกาแฟโรบัสต้าก็ยังสามารถพิสูจน์ได้ว่า ก่อให้เกิดโรคได้น้อยกว่ากาแฟอาราบิก้า อีกทั้งยังสามารถปลูกได้ในสภาพแวดล้อมที่กาแฟอาราบิก้าไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นในธุรกิจกาแฟจึงมักจะใช้กาแฟโรบัสต้ามาทดแทนกาแฟอาราบิก้า เพราะมีราคาถูกกว่า

นอกเหนือจากกาแฟทั้งสองสายพันธุ์หลักนี้แล้วก็ยังมีกาแฟพันธุ์ Coffea liberica และ Coffea esliaca อีกด้วย โดยที่เชื่อว่าเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศไลบีเรียและทางตอนใต้ของประเทศซูดานตามลำดับ

กาแฟอาราบิก้า

กาแฟอาราบิก้า ชื่อสามัญ Arabian coffee, Coffee, Kofi, Koffie, Brazillian coffee

กาแฟอาราบิก้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Coffea arabica L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

  • ต้นกาแฟอาราบิก้า เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศเอธิโอเปีย แต่ชาวอาหรับเป็นชาติแรกที่นำกาแฟมาชงดื่ม จึงทำให้ชื่อภาษาละตินของกาแฟใช้คำว่า “อาราบิก้า” (arabica) ที่หมายถึงชาวอาหรับ โดยต้นกาแฟจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร ในปัจจุบันเพาะปลูกกันมากในเขตร้อนชื้นและกึ่งเย็น[1]

ต้นกาแฟอาราบิก้า

  • ใบกาแฟอาราบิก้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นมัน บางครั้งเป็นคลื่น มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1]

ใบกาแฟอาราบิก้า

  • ดอกกาแฟอาราบิก้า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว ติดกันเป็นหลอด ดอกมีกลิ่นหอม[1]

ดอกกาแฟ

ดอกกาแฟอาราบิก้า

  • ผลกาแฟอาราบิก้า ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมรูปทรงกลม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[1]

ผลกาแฟอาราบิก้า

จุดเด่นของกาแฟอาราบิก้า คือ มีกลิ่นหอมและสารกาแฟสูง ทำให้เมื่อดื่มแล้วรู้สึกได้ถึงความกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา โดยกาแฟชนิดนี้จะมีปริมาณของกาเฟอีนต่ำ เป็นกาแฟที่มีคุณภาพสูง มีความหอมไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากขาดการส่งเสริมและการประชาสัมพันธ์ที่ดี ในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟชนิดนี้กันมากทางภาคเหนือบนดอยสูง[3]

กาแฟอาราบิก้า

กาแฟโรบัสต้า

กาแฟโรบัสต้า ชื่อสามัญ Robusta coffee

กาแฟโรบัสต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Coffea canephora Pierre ex A.Froehner (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coffea robusta L.Linden)

  • ต้นกาแฟโรบัสต้า ลำต้นเจริญเติบโตมาจากรากแก้ว มีลักษณะเป็นข้อและปล้อง โคนใบจะอยู่ตามข้อของลำต้น เมื่อต้นโตขึ้นใบจะร่วงหล่นไป โคนใบมีตา 2 ชนิด คือ ตาบนและตาล่าง ตาบนจะแตกกิ่งออกมาเป็นกิ่งแขนงที่ 1 ลักษณะเป็นกิ่งนอนขนานกับพื้นดินมีข้อและปล้อง แต่ละข้อจะมีกลุ่มตาดอกที่จะติดเป็นผลกาแฟต่อไป ส่วนตาล่างจะแตกออกเป็นกิ่งตั้ง กิ่งจะตั้งตรงขึ้นไปเหมือนลำต้น และไม่ติดผล แต่สามารถสร้างกิ่งแขนงที่ให้ดอกผลได้ ซึ่งเรียกเป็นกิ่งแขนงที่ 1 เช่นกัน และกิ่งแขนงที่ 1 ยังสามารถแตกกิ่งแขนงต่อไปได้อีกเป็นกิ่งแขนงที่ 2 และกิ่งแขนงที่ 2 ก็สามารถแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 3 ได้อีก โดยกิ่งแขนงเหล่านี้จะเกิดในลักษณะเป็นคู่สลับเยื้องกันบนลำต้นหรือกิ่งตั้ง เมื่อมีการตัดลำต้นกาแฟ ตาล่างบนลำต้นจะแตกกิ่งตั้งขึ้นมา กิ่งก็จะแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 1, 2 และ 3 จากนั้นก็จะมีการสร้างดอกและผลกาแฟต่อไป โดยต้นกาแฟนั้นจะสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[2]

ต้นกาแฟโรบัสต้า

  • ใบกาแฟ ใบเป็นใบเดี่ยว เกิดที่ข้อเป็นคู่ตรงข้ามกัน โคนใบและปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่น ตรงกลางใบกว้าง ผิวใบเรียบนุ่มเป็นมัน มีปากใบอยู่ด้านท้องใบ แต่ละใบจะมีปากใบประมาณ 3 ล้านถึง 6 ล้านรู โดยปากใบโรบัสต้าจะมีขนาดเล็กกว่าปากใบของกาแฟอาราบิก้า แต่จะมีจำนวนมากกว่า มีอายุใบประมาณ 250 วัน ส่วนก้านใบนั้นมีขนาดสั้น[2]

ใบกาแฟโรบัสต้า

  • ดอกกาแฟ ปกติแล้วดอกกาแฟจะออกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ มีกลีบดอกประมาณ 4-9 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4-5 ใบ มีเกสร 5 อัน และมีรังไข่ 2 ห้อง ในแต่ละห้องของรังไข่จะมีไข่ 1 ใบ ผลกาแฟจึงมีเมล็ด 2 เมล็ด ดอกจะออกเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณโคนใบบนข้อของกิ่งแขนงที่ 1, 2 หรือ 3 กลุ่มดอกแต่ละข้อจะมีดอกประมาณ 2-20 ดอก ดอกจะออกจากกิ่งแขนงจากข้อที่อยู่ใกล้กับลำต้นออกไปหาปลายกิ่งแขนง โดยปกติแล้วต้นกาแฟจะออกดอกตามข้อของกิ่ง ข้อที่ออกดอกออกผลแล้วในปีต่อไปก็จะไม่ออกดอกและให้ผลอีก[2]

ดอกกาแฟโรบัสต้า

  • ผลกาแฟ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี ก้านผลสั้น ผลดิบเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ผลกาแฟจะประกอบด้วยเปลือก เนื้อที่มีสีเหลือง (เมื่อสุกมีรสหวาน) และกะลาที่ห่อหุ้มเมล็ด ช่วงระหว่างกะลากับเมล็ดจะมีเยื่อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่ ซึ่งเราเรียกว่า “เยื่อหุ้มเมล็ด” ในแต่ละผลจะมี 2 เมล็ดประกับกันอยู่ ก้านที่ประกบกันจะอยู่ด้านในมีลักษณะแบน มีร่องตรงกลางเมล็ด 1 ร่อง ส่วนด้านนอกโค้ง ลักษณะของเมล็ดจะเป็นเมล็ดเดี่ยวหรือเมล็ดโทน ในบางครั้งหากการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ จะทำให้ผลติดเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว (คิดเป็นประมาณ 5-10%) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปกลมรีทั้งเมล็ด มีร่องตรงกลาง 1 ร่อง เมล็ดจำพวกนี้จะเรียกว่า “พีเบอร์รี่[2]

ผลกาแฟโรบัสต้า

จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้า โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะนำกาแฟโรบัสต้ามาผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูป หรือนำมาผสมกับกาแฟอาราบิก้าบางส่วน เพื่อผลิตเป็นกาแฟคั่วบดให้มีรสชาติที่แตกต่างออกไป สำหรับกาแฟโรบัสต้านั้นมีจุดเด่นในเรื่องของบอดี้ เมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกได้ถึงความนุ่ม ชุ่มคอ กาแฟชนิดนี้จะมีปริมาณของกาเฟอีนสูงกว่ากาแฟอาราบิก้าเป็น 2 เท่า กาแฟโรบัสต้าในประเทศไทยจะมีการเพาะกันมากทางภาคใต้บนพื้นที่ราบ เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดชุมพร[3]

กาแฟโรบัสต้า

สรรพคุณของกาแฟ

  1. มีงานวิจัยหลายงานที่ระบุว่า เมล็ดกาแฟมีสารกาเฟอีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจและกระตุ้นประสาทส่วนกลาง การดื่มกาแฟจึงช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ตาแข็ง นอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายสดชื่น ขจัดความเซื่องซึมและอ่อนล้าได้[1],[4] โดยมีการยืนยันจากผลการทดลองที่ทำการทดลองกับนักกีฬากลุ่มหนึ่งที่ได้ดื่มกาแฟในระหว่างการฝึกซ้อม และได้พบว่านักกีฬากลุ่มดังกล่าวสามารถฝึกซ้อมกีฬาได้นานขึ้นหรืออึดมากขึ้น โดยความคึกคักที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น[6]
  2. ปริมาณกาเฟอีนในกาแฟที่เหมาะสมสามารถช่วยลดอาการหงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงความเครียดได้ การดื่มกาแฟจึงทำให้ผู้ดื่มรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข[3] โดยมีรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว จะสามารถช่วยลดความเครียดได้ประมาณ 15% แต่ถ้าหากดื่มถึงวันละ 4 แก้ว ก็จะช่วยลดความเครียดได้ถึง 20%[6]
  3. ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์Arabica-Robusta โดยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ที่เปิดเผยว่าผู้ที่มีอายุล่วงเข้าสู่วัยกลางคน ควรดื่มกาแฟวันละ 4-5 แก้ว เพื่อช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน GCSF เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้[6] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษากับคนวัยกลางคนในประเทศฟินแลนด์จำนวน 1,400 คน ที่พบว่าคนที่ดื่มกาแฟวันละ 5 ถ้วยต่อวัน สามารถลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 65%[11]
  4. เป็นที่เชื่อกันว่ากาแฟมีสรรพคุณที่ช่วยชูกำลังได้[10]
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ กาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด จึงช่วยระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับยาแก้ปวด อีกทั้งกาแฟยังช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด บรรเทาอาการปวดศีรษะเนื่องจากการเมาสุรา อาการปวดศีรษะเนื่องจากเส้นประสาท รวมถึงอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน[3],[4]
  6. กาเฟอีนสามารถช่วยขยายหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจได้ จึงทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดแดงบริเวณศีรษะหดตัว ซึ่งก็ช่วยลดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้อีกด้วย[3]
  7. ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันได้ว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-5 แก้ว สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งตับได้ เนื่องจากกาเฟอีนจะไปช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์ผิดปกติ และกำจัดสารพิษที่ร่างกายได้รับออกไปได้ในระดับหนึ่ง[3],[6] งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาจนพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟจะมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า ผู้ป่วยที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 5 ถ้วย จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ต่ำกว่ากลุ่มอื่นถึง 40%[3] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่ทำการศึกษากับผู้หญิงเป็นระยะเวลา 12 ปี โดยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 3 แก้วหรือมากกว่า จะมีแนวโน้มในการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 50%[11] และจากการศึกษากับผู้ชายจำนวน 50,000 คน เป็นระยะเวลา 20 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม[11] โดยมีข้อมูลที่ระบุว่าการดื่มกาแฟนั้น จะสามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้[5]
  8. จากการศึกษาของภาคเกษตรและเคมีอาหารของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ศึกษาจนพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจะมีโอกาสรอดพ้นจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ถึง 50% เนื่องจากกาแฟมีกาเฟอีนที่มีคุณสมบัติในการยับยั้ง hIAPP และโพลีเปปไทด์ ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดโปรตีนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2[6]
  1. เมล็ดกาแฟ มีสรรพคุณช่วยลดน้ำระดับตาลในเลือดได้ โดยการใช้เมล็ดที่คั่วแล้ว นำมาชงกับน้ำร้อน เป็นเครื่องดื่มยามว่าง[12]
  2. กาแฟมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ[4] จากการศึกษาที่ติดตามดูผู้หญิงจำนวน 27,000 คน เป็นเวลา 15 ปี พบว่าการดื่มกาแฟประมาณวันละ 1-3 ถ้วย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจให้น้อยลงได้ถึง 26% แต่การดื่มกาแฟในปริมาณมากกว่านี้ต่อวันจะไม่ได้ผลในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ[9] ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ทำการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 5 ถ้วย พบว่ากาแฟไม่มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น แม้ในรายที่มีปัญหาเส้นเลือดหดตัวหรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 ถ้วยขึ้นไปทุกวันก็ไม่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงเกินกว่าปกติ[3] การดื่มกาแฟจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะกาแฟมีสาร theobromine (เมล็ด)[1]
  3. กาแฟมีนิโคติน แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกันกับที่พบได้ในบุหรี่ แต่เป็นวิตามินบีรวมชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ ซึ่งสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ การดื่มกาแฟจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งตัว[3]
  4. จากการศึกษากับนางพยาบาลจำนวน 83,000 คน ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และดื่มกาแฟวันละ 4 แก้ว พบว่า กาแฟสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้ถึง 43%[11]
  5. มีงานวิจัยที่ระบุว่า กาเฟอีนสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานของร่างกาย ทำให้ไขมันเกิดการสลายตัวมากขึ้น การดื่มกาแฟจึงอาจช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักได้ อีกทั้งกาเฟอีนและสารอื่น ๆ ที่มีอยู่ในกาแฟยังช่วยกระตุ้นการหลั่งของกรดและน้ำย่อย จึงช่วยในการย่อยอาหาร ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้คนจำนวนมากหันมาดื่มกาแฟหลังอาหารในแต่ละมื้อ[3] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันได้ว่ากาเฟอีนสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมและอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้ และล่าสุดได้มีผลการวิจัยที่ได้ข้อสรุปว่า กาเฟอีนในเมล็ดกาแฟสดคั่วบดมีผลต่อการลดน้ำหนักในผู้หญิงได้จริง โดยสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 7.7 กิโลกรัม ภายใน 22 สัปดาห์[6] แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาจากชาวอเมริกันจำนวน 58,000 ราย โดยติดตามผลเป็นเวลา 12 ปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหญิงและชายที่ดื่มกาแฟมากขึ้น กลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุคงจากนม น้ำตาล และครีมเทียมที่ใส่ลงไปในกาแฟนั่นเอง[9]
  6. การดื่มกาแฟหลังอาหาร สามารถช่วยละลายไขมัน ทำให้ไขมันเกิดการแตกตัว และให้พลังงานทดแทนได้ อีกทั้งกาแฟยังมีประโยชน์ต่อกระเพาะโดยตรง โดยจะช่วยทำให้น้ำย่อยที่กระเพาะและตับอ่อนมีเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไขมันถูกเผาผลาญ การดื่มกาแฟจึงมีส่วนในการช่วยลดความอ้วนได้[3]
  7. ช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟบ่อย ๆ จะมีไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น ซึ่งไขมันชนิดนี้จะเป็นตัวช่วยขับไล่คอเลสเตอรอล และช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว[3]
  8. จากการศึกษาของ ดร.จี เวปสเตอร์ และคณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท จากศูนย์การแพทย์นครฮอนโนลูลูของสหรัฐอเมริกา ได้พบว่า ผู้ชายที่ไม่ดื่มกาแฟจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 5 ถ้วย สูงถึง 5 เท่า[3] ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันการแพทย์อเมริกันที่พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว เป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันได้ถึง 25%[6] แต่สำหรับกาแฟชนิดที่สกัดเอากาเฟอีนออก จะไม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้[9]
  9. การดื่มกาแฟสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหอบ ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด แก้หอบหอบหืดได้ เพราะกาแฟมีสารกาเฟอีนที่ช่วยระงับอาการตึงเครียดของประสาทสัมผัสสำรอง จึงช่วยลดการเกิดโรคหอบได้[3],[9]
  10. ดร.ดาร์ซี โรแบร์โตลิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาของมหาวิทยาลัยรีโอ เดจาเนโร ได้เปิดเผยว่า ผู้ที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันเนื่องมาจากการดื่มสุรา จากภาวะซึมเศร้า จากอายุขัย หรือจากการเสพยา สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน[3]
  11. ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟวันละ 4 แก้ว จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีลดลงประมาณ 25% เช่นเดียวกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้ระบุว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้[6] โดยมีข้อมูลที่ได้ระบุว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ 40% และลดได้ 25% สำหรับผู้หญิงที่ดื่มกาแฟในปริมาณเท่ากัน ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 4 แก้ว จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ถึง 45%[11]
  12. มีงานวิจัยที่ได้พิสูจน์แล้วว่า กาแฟมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี[3]
  13. ช่วยลดการเกิดโรคตับจากสุรา จากสำรวจพบว่ากาแฟสามารถช่วยลดผลร้ายที่มีต่อตับได้ แต่ในส่วนนี้ยังต้องมีการวิจัยต่อไปว่า สารชนิดใดที่เป็นสารออกฤทธิ์ และมีผลต่อสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งหรือไม่นอกจากแอลกอฮอล์[3] ส่วนอีกจากการศึกษาที่ทำการศึกษากับผู้ดื่มกาแฟจำนวน 125,000 คน โดยพบว่าการดื่มกาแฟเพียงวันละ 1 แก้ว ก็สามารถทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคตับแข็งลดลง 20% และถ้าดื่มวันละ 4 แก้ว ก็จะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงได้สูงถึง 80%[11]
  14. กาแฟมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ[1] โดยมีข้อมูลที่ระบุว่า การดื่มกาแฟประมาณ 5 ถ้วยครึ่ง (ประมาณ 550 มิลลิกรัม) จะไม่ออกฤทธิ์ในการขับปัสสาวะแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม กาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้หากดื่มเกินครั้งละ 575 มิลลิกรัม หรือประมาณ 6 ถ้วย ดังนั้นในขณะออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย จึงไม่ควรดื่มกาแฟในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้[9]
  15. การดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว อาจช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายได้ถึง 58% จึงทำให้ยาแก้ปวดหลายประเภทนั้นมีส่วนผสมของกาเฟอีนอยู่ด้วย 65 มิลลิกรัม (เช่น aspirin, ibuprofen เป็นต้น) นอกจากนี้กาเฟอีนยังสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ถึง 40%[11]
  16. ช่วยลดโอกาสเป็นโรคเกาต์ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ดื่มกาแฟวันละ 3-6 แก้วอย่างต่อเนื่อง เพราะจากผลการวิจัยของสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่ง ที่ได้ยืนยันว่า กาเฟอีนมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้ออันเนื่องมาจากกรดยูริกที่เกินขนาดอย่างได้ผล โดยผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกาต์ได้ถึง 60%[6]
  17. จากการศึกษาของ University of Bari ที่ประเทศอิตาลี พบว่าการดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้ว จะช่วยป้องกันโรคหนังตากระตุกได้ และช่วยลดอัตราการกระตุกให้ช้าลงได้ในผู้ป่วย[10]
  18. ใช้แก้อหิวาตกโรค (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]
  19. จากการศึกษาของนายแพทย์วินเซนต์ ทูบิโอโล แห่งศูนย์การแพทย์ยูซีแอลเออ-ฮาร์เบอร์ เขาได้ตั้งทฤษฎีใหม่ว่า การได้รับกาเฟอีนในขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวัน อาจช่วยลดอาการแพ้เกสรจากดอกไม้ได้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกาแฟ

  • สารสำคัญที่พบ คือ arabinogalactan, aspartic acid, atractyligenin, β-sitosterol, cafestol, caffeine, caffeoyl tyrosine, caffeoyl, fucosterol, glucopyranosyl, guaiacol, quinic acid, kahweol, phosphoric acid, pyrazine, pyridine, pyrrole, stigmasterol, tryptophan, vinyl เป็นต้น[12]
  • กาแฟมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งการเพิ่มน้ำหนัก กระตุ้นประสาทส่วนกลาง กระตุ้นหัวใจ กระตุ้นไต กระตุ้นกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้น alanine aminotransferase ลอครีเอตีนีน ยับยั้ง r-glutamyltransferase เพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์เหมือน juvenile hormone มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ล่อแมลง[12]
  • เมื่อปี ค.ศ.1994 ที่ประเทศอินเดีย มีรายงานผลการทดลอง สารสกัดจากเมล็ดกาแฟต่อผลเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และผลการลดระดับน้ำตาลในเลือดของกาแฟ โดยผลการทดลองพบว่า กาแฟสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[12]

ประโยชน์ของกาแฟ

  1. เมล็ดกาแฟถูกนำมาผลิตจนเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีการผลิตกาแฟอาราบิก้าและกาแฟโรบัสต้าได้มากพอ ทำให้บางปีก็มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย แต่ยังต้องมีการนำเข้ากาแฟคุณภาพดีเข้ามาผสม เพื่อใช้ผลิตเป็นผงกาแฟสำเร็จรูปสำหรับการบริโภคในประเทศเช่นกัน[1]
  2. กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นตัวช่วยต้านสารพิษที่เกิดจากภายในและภายนอกร่างกาย[11]
  3. ช่วยขับไล่ความแก่ชรา แม้ว่าร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากก็จริง แต่ถ้ามีออกซิเจนมากเกินไปก็อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงและทำให้แก่ชราเร็ว โดยเฉพาะในกาแฟที่เข้มข้นจะทำให้ออกไซด์แตกตัวและลดการเกิดมะเร็งได้[3]
  1. ปริมาณที่เหมาะสมของกาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟสามารถช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการตื่นตัว ช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผลข้อมูลในสมอง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานที่ต้องใช้สมาธิ ใช้เหตุผลและความจำ ส่วนกลิ่นหอมของกาแฟก็ช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานได้เร็ว มีสมาธิ และมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นได้เช่นกัน (เนื่องจากกลิ่นของกาแฟสามารถทำให้เลือดไหลเวียนในสมองเพิ่มขึ้นได้)[3] ซึ่งงานวิจัยจากภาครังสีวิทยาของอเมริกาเหนือ ที่ได้พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว จะสามารถช่วยพัฒนาความจำและปฏิกิริยาการโต้ตอบที่ดีขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่อดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 3 แก้ว จะมีความจำที่ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มหรือดื่มกาแฟน้อยกว่านี้[6]
  2. ช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการออกกำลังกาย มีการสันนิษฐานกันว่า กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทเคทีโคลามีน ซึ่งจะไปกระตุ้นการสลายไขมันในเนื้อเยื่อให้เกิดเป็นพลังงาน คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปของไกลโคเจนจึงยังเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สะสมในกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีความทนทานต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้แรงได้มากขึ้น[7]
  3. ในด้านของโภชนาการ การดื่มกาแฟจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับของเหลวเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน อีกทั้งในเนื้อกาแฟยังมีไนอะซินซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้การดื่มกาแฟยังช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้อีกด้วย[3],[5]
  4. สารประกอบที่มีชื่อว่า Trigonelline เป็นสารที่ทำให้กาแฟมีกลิ่นหอมและมีรสขม สารชนิดนี้มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันแบคทีเรียและการก่อตัวของแบคทีเรีย จึงมีผลช่วยป้องกันฟันผุได้[11]
  5. จากการศึกษาเป็นเวลา 10 ปี กับผู้หญิงจำนวน 86,000 คน พบว่าผู้หญิงที่ดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว จะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในเพศหญิงได้ถึง 60%[11]
  6. นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เยเซอร์ ดอร์รี ได้เสนอว่า กลิ่นของกาแฟสามารถช่วยลดอาการอยากอาหารและช่วยฟื้นฟูประสาทรับกลิ่นได้ และทฤษฎีดังกล่าวยังสามารถใช้ได้กับสัตว์ทดลองอีกด้วย[10]
  7. ส่วนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ของกาแฟ ยังพบว่า คุณประโยชน์บางอย่างอาจส่งผลต่อเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เช่น กาแฟได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยลดการฆ่าตัวตายในเพศหญิงได้ และช่วยป้องกันนิ่วและโรคถุงน้ำดีในผู้ชาย และช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้ทั้งสองเพศ โดยจะลดประมาณ 30% ในเพศหญิง แต่จะลดมากกว่า 50% ในเพศชาย เป็นต้น และการดื่มกาแฟดูเหมือนว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดขนาดของหน้าอก[10] ช่วยลดความรู้สึกหนาวได้เนื่องจากมีกาเฟอีน
  8. เมล็ดกาแฟ สามารถช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นได้ วิธีการก็คือเอาเมล็ดกาแฟมาอมไว้ชั่วครู่ ลมหายใจของคุณก็จะมีกลิ่นสะอาดและสดชื่นอีกครั้ง[10]
  9. ช่วยกำจัดกลิ่นอาหาร ถ้ามือของคุณมีกลิ่นปลา กลิ่นกระเทียม หรือกลิ่นอาหารแรง ๆ เมล็ดกาแฟเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ วิธีก็คือให้เทเมล็ดกาแฟลงบนมือแล้วถือเข้าด้วยกันสักครู่ แล้วน้ำมันจากเมล็ดกาแฟจะช่วยดูดซับกลิ่นออกไป หลังจากนั้นก็ให้ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ให้สะอาดอีกครั้ง[10]
  10. ปัจจุบันมีการนำเมล็ดกาแฟที่เก็บได้จากผลสุกแล้วเอาเนื้อออกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟพร้อมดื่ม ผสมในขนมอบ ไอศกรีม ลูกกวาด ทอฟฟี่ หรือนำมาสกัดเอากาเฟอีน เพื่อใช้ผสมในยาและเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น โค้ก เป็นต้น

โทษของกาแฟ

  • กาเฟอีนมีคุณสมบัติคล้ายยาเสพติดอย่างอ่อน ผู้ที่ดื่มกาแฟจึงมักต้องดื่มเป็นประจำ หรือที่เรียกว่า “ติดกาแฟ” จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ดื่มกาแฟกันมาก[4] และจากผลสำรวจพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟในปริมาณ 235 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10% จะรู้สึกมีความทุกข์มากขึ้นเมื่อร่างกายขาดกาเฟอีน[10]
  • กาแฟเพียงถ้วยเดียวก็สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้[5]
  • มีคำแนะนำว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟในปริมาณสูง เพราะจากการศึกษาพบว่า กาเฟอีน 250 มิลลิกรัม สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทั้งตัวบนและตัวล่างในทุกกลุ่ม และจะยิ่งสูงมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 1.5 เท่าของกลุ่มที่มีความดันปกติ ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งได้ระบุว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำในปริมาณน้อย ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีการศึกษาติดตามผลในพยาบาล 155,000 คน ที่ดื่มกาแฟมานาน 10 ปี พบว่าไม่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ John hopkins ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 ราย โดยติดตามผลเป็นเวลา 33 ปี ที่พบว่ากาเฟอีนมีผลต่อความดันโลหิตน้อยมาก[9]
  • หากร่างกายได้รับกาเฟอีนสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อวัน กาเฟอีนจะไปแทรกแซงการนอนหลับ ทำให้นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ทำให้ช่วงเวลาที่หลับนั้นสั้นลง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่[5],[7]
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ หากหยุดดื่มกะทันหันจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนเพลีย และง่วงนอนได้[7]
  • การดื่มกาแฟอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือเต้นไม่เป็นจังหวะได้ เนื่องจากกาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง จึงส่งผลให้อัตราการบีบตัวของหัวใจและปริมาณของเลือดที่สูบฉีดต่อนาทีเพิ่มขึ้น[7]
  • สาร theobromine ในกาแฟอาจทำให้มีอาการปวดแสบที่ลิ้นปี่ได้[1]
  • การดื่มกาแฟหลายถ้วยต่อวัน จะลดความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายลงได้ โดยเฉพาะอย่างในสตรี[5]
  • กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของกรด pepsin และ gastrin ซึ่งอาจทำให้โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้รุนแรงขึ้นได้[7]
  • กาแฟมีฤทธิ์ลดการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ คุณจึงควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟในขณะท้องว่าง อีกทั้งการดื่มกาแฟในขณะท้องว่างกาเฟอีนยังไปเร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย[1],[7]
  • เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ โดยไปลดการดูดกลับของโซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียมออกจากไต จึงทำให้แร่ธาตุเหล่านี้ถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ถ้าหากร่างกายสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายบ่อย ๆ ในปริมาณมาก อาจเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้[5],[7]
  • การดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 1 แก้ว จะมีโอกาสเกิดการเป็นหมันมากขึ้น[9]
  • ก่อนหน้าที่มีข้อถกเถียงกันว่า การดื่มกาแฟอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ของสตรีได้ แต่จากหลักฐานยังไม่พบผลเสียดังกล่าว นักวิจัยจึงแนะนำว่าให้ดื่มกาแฟปริมาณน้อย ๆในขณะตั้งครรภ์จึงจะไม่เกิดผลเสีย (แต่หากงดได้ก็ควรจะงด)[9] ส่วนการศึกษาในประเทศเดนมาร์กที่ได้ทำการศึกษากับสตรีจำนวน 18,478 คน ที่ดื่มกาแฟปริมาณมากในระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่ามันส่งผลทำให้อัตราเสี่ยงของการตายของทารกหลังคลอดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการตายในปีแรกของทารก โดยในรายงานได้ระบุว่า ผลการศึกษานี้บ่งชี้ถึงผลกระทบจากการดื่มกาแฟตั้งแต่วันละ 4-7 ถ้วย ส่วนผู้ที่ดื่มตั้งแต่วันละ 8 ถ้วยขึ้นไป (หรือ 48 ออนซ์ขึ้นไป) จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นถึง 220% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม จากผลการศึกษานี้จึงทำให้รู้ว่าสตรีตั้งครรภ์ควรเพิ่มความระมัดระวังในการดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไป[10]
  • เด็กเล็กไม่ควรดื่มกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ

กาเฟอีนในกาแฟ

  • กาเฟอีน คืออะไร? : กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารประกอบที่พบได้มากในเมล็ดกาแฟ โดยกาเฟอีนบริสุทธิ์นั้นจะมีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม มีรสขม และไม่มีกลิ่น ปริมาณของกาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป โดยกาแฟโรบัสต้าจะมีปริมาณกาเฟอีนสูงกว่ากาแฟอาราบิก้า[7]
  • ปริมาณของกาเฟอีนที่ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ : กาเฟอีนในขนาดต่ำ (50-200 มิลลิกรัม) จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วงนอน กระปรี้กระเปร่า สดชื่น, ส่วนกาเฟอีนในขนาดปานกลาง (200-500 มิลลิกรัม) อาจทำให้ปวดศีรษะ เครียด กระวนกระวาย มือสั่น นอนไม่หลับ, และกาเฟอีนในขนาดสูง (1,000 มิลลิกรัม) จะเริ่มทำให้มีอาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ บางข้อมูลระบุว่าอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ทำให้งุนงงสับสน ความคิดและคำพูดติดขัด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจมีอาการแสงวูบวาบลวงตาและได้ยินเสียงดังในหู แต่ถ้าหากได้รับกาเฟอีนมากกว่า 10,000 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดโรคลมชัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด[7],[8]
  • ฤทธิ์ของกาเฟอีน : กาเฟอีนในกาแฟสามารถถูกดูดซึมได้หมดและรวดเร็วในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท้องว่างจะยิ่งดูดซึมเร็วขึ้น ภายหลังการดื่มกาแฟประมาณ 30-60 นาที ความเข้มข้นของกาเฟอีนในเลือดจะขึ้นสู่ระดับสูงสุด และหลังจากกาเฟอีนถูกดูดซึมก็จะกระจายตัวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เช่น สมอง หัวใจ ตับ และไต นอกจากนี้กาเฟอีนยังสามารถกระจายไปสู่รกและน้ำนมได้บ้างประมาณ 0.06% ส่วนการขับกาเฟอีนออกจากร่างกายก็จะแตกต่างกันออกในแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในผู้ใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ในการจับกาเฟอีนปริมาณครึ่งหนึ่งที่ได้รับออกจากร่างกาย[7]
  • กาแฟเป็นสารเสพติดหรือไม่? : การดื่มกาแฟเป็นความชินมากกว่า สิ่งที่จะเรียกว่าติดได้ คือ จะต้องได้รับเป็นประจำและปริมาณต้องเพิ่มขึ้น แต่กาแฟไม่ได้ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนในกรณีของสารเสพติดนั้นหากไม่ได้รับจะมีอาการลงแดงหรือทนไม่ไหว แต่การดื่มกาแฟจะไม่ให้ผลอย่างนั้น การดื่มกาแฟจึงไม่ใช่การติด แต่เป็นนิสัยมากกว่า อีกทั้งสารเสพติดจำพวกแอมเฟตามีน มอร์ฟีน นิโคติน จะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งของสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการเสพติด แต่กาเฟอีนจะไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น[7]
  • ปริมาณกาเฟอีนที่ปลอดภัย : สภาพร่างกายของแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณกาเฟอีนที่แตกต่างกัน บางคนดื่มกาแฟ 1 ถ้วยก็อาจทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับได้ แต่อาจจะไม่มีผลกับอีกคนหนึ่งที่มีความทนทานมากกว่า อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้กำหนดปริมาณกาเฟอีนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นั่นก็คือไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับการดื่มกาแฟไม่เกิน 3 ถ้วยต่อวัน[7]
  • กาเฟอีนก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้เช่นกัน : จากการสำรวจพบว่า  ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงจากการดื่มกาแฟ พบว่าแทบทุกคนดื่มกาแฟวันละ 10 กว่าถ้วย โดยผู้ป่วยเหล่านี้คิดว่าการดื่มกาแฟหลายถ้วยจะทำให้มีแรงทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วยิ่งดื่มกาแฟมากเท่าไร กาเฟอีนในร่างกายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการดึงพลังงานออกจากตัวมากเท่านั้น เมื่อยิ่งดื่มจึงยิ่งอ่อนเพลีย เมื่อเพลียก็ยิ่งดื่มมากขึ้น หมุนเวียนเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป และเพื่อเป็นการแก้อาการอ่อนเพลีย ควรงดดื่มกาแฟโดยเด็ดขาดเป็นเวลา 2-3 เดือน และหากทำได้อย่างเคร่งครัดอาการอ่อนเพลียก็จะหายไป[8]
  • อันตรายของกาเฟอีน : กาเฟอีนเปรียบเสมือนยาพิษถ้าหากได้รับมากเกินไป การบริโภคกาเฟอีนในปริมาณเข้มข้นและในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายอาเจียน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้[10]

coffee

ดื่มกาแฟอย่างไรให้ได้ประโยชน์

  1. อย่างแรกเราต้องสังเกตตัวเองก่อนว่า ร่างกายของเรามีความไวต่อการตอบสนองของปริมาณกาแฟกี่ถ้วย และมีอาการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมให้กับตัวเอง[7]
  2. หากคุณมีอาการนอนหลับยากอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือช่วงหัวค่ำ[7]
  3. ไม่ควรดื่มกาแฟเพื่อหักโหมในการทำงาน จนทำให้อดนอนติดต่อกันหลาย ๆ คืน แม้ว่ากาเฟอีนจะช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม สมองก็ต้องได้รับเวลาการพักผ่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้[7]
  4. สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแคลเซียมที่สูญเสียไปกับปัสสาวะ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน[7]
  5. ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของกาเฟอีน[7]
  6. เนื่องจากในกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ จะทำให้มีอนุมูลอิสระเกิดขึ้น การรับประทานผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระในร่างกายออกไปได้[7]
  7. ควรระวังครีมเทียมและน้ำตาลที่เติมลงไปในกาแฟ เพราะยิ่งเติมมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มแคลอรีให้กาแฟและเพิ่มพลังงานส่วนเกินให้กับร่างกาย[8]
  8. หากดื่มกาแฟหลายถ้วยในหนึ่งวัน คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีกาเฟอีนเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มกาเฟอีนให้กับร่างกาย เช่น น้ำอัดลม ช็อกโกแลต โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. พืชเครื่องดื่ม, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th. [13 ส.ค. 2014].
  2. คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน). “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.arda.or.th. [13 ส.ค. 2014].
  3. Coffee กาแฟ, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : student.nu.ac.th. [13 ส.ค. 2014].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 167 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. “กาแฟ : ความขมที่ชาวโลกนิยม”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [13 ส.ค. 2014].
  5. งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. “ข้อดี-ข้อเสียของการดื่มกาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.lib.ru.ac.th. [13ห ส.ค. 2014].
  6. ผู้จัดการออนไลน์. “9 ข้อดีของกาแฟ ดื่มอย่างเหมาะสมสุขภาพก็แจ่มใส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [13 ส.ค. 2014].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 คอลัมน์ : เรื่องน่ารู้. “กาแฟให้อะไรกับคุณบ้าง”. (สุธีรา สัตย์ซื่อ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [13 ส.ค. 2014].
  8. สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. “ดื่มกาแฟ (ทุกวัน) อย่างไรให้มีผลเสียน้อยที่สุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.hiso.or.th. [13 ส.ค. 2014].
  9. ผู้จัดการออนไลน์. (เอมอร คชเสนี). “กาแฟดีหรือร้ายกันแน่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [13 ส.ค. 2014].
  10. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “กาแฟ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/กาแฟ. [13 ส.ค. 2014].
  11. ภก.นพ.สันติ ปลอดทอง. “ประโยชน์ของกาแฟ”.
  12. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กาแฟ”  หน้า 57.

ภาพประกอบ : www.flickr.com by (Scot Nelson, Tobias Schorr, Fluffymuppet, Tropic~7, Arne Kuilman, judymonkey17, Dinesh Valke, Ahmad Fuad Morad, maryam lashgari, Marc DONNARS, Toni Lazo, angel.a)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด