กาฬพฤกษ์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกาฬพฤกษ์ 6 ข้อ !

กาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ ชื่อสามัญ Horse cassia, Pink Shower[1],[2]

กาฬพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกาฬพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปลือกขม (ปราจีนบุรี), กัลปพฤกษ์ (กรุงเทพมหานคร), กาลพฤกษ์ ไชยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), กานล์ กาลส์ (เขมร), กาฬพฤกษ์ยอดแดง เป็นต้น[1],[2],[4] (คำว่า “กาฬ” และคำว่า “พฤกษ์” นั้น จะแปลตรง ๆ ได้ว่า “ต้นไม้สีดำ“)

หมายเหตุ : ต้นกาฬพฤกษ์ที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นกัลปพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib ดอกมีสีชมพู), ต้นชัยพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica L. ดอกมีสีชมพูเข้ม) และต้นราชพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. ดอกมีสีเหลือง) ส่วนต้นกาฬพฤกษ์นั้นจะมีดอกมีเป็นสีส้มอมแดง

ลักษณะของกาฬพฤกษ์

  • ต้นกาฬพฤกษ์ จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 20 เมตร ลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับต้นคูนหรือต้นราชพฤกษ์ เรือนยอดเป็นพุ่มหรือแผ่กว้าง โคนต้นมักมีพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แตกเป็นร่องลึก ตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ยอดอ่อนเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่มีปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2],[3]

ต้นกาฬพฤกษ์

  • ใบกาฬพฤกษ์ ใบมีขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบแคฝรั่งหรือใบขี้เหล็ก โดยเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 10-20 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนมีติ่งหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบบางเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมันหรือมีขนประปราย ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นหนาแน่น ใบอ่อนหรือยอดอ่อนเป็นสีแดง[1],[2],[3]

ใบกาฬพฤกษ์

  • ดอกกาฬพฤกษ์ ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ ออกตามกิ่งพร้อมกับผลิใบอ่อน ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ดอกมีลักษณะคล้ายดอกต้นเชอร์รี่และมีกลิ่นหอม ดอกกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับถึงค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีแดงคล้ำแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้มตามลำดับ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กลุ่มที่ 2 มี 5 อัน ก้านชูอับเรณูจะสั้น ส่วนกลุ่มที่ 3 จะมี 2 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากและอับเรณูจะฝ่อ รังไข่มีลักษณะเรียวโค้ง มีขนหนานุ่ม เกสรดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ดอกกาฬพฤกษ์

รูปกาฬพฤกษ์

รูปดอกกาฬพฤกษ์

  • ผลกาฬพฤกษ์ ผลมีลักษณะเป็นฝักค่อนข้างกลม เป็นแท่งหรือรูปทรงกระบอกยาว โคนและปลายสอบ เปลือกฝักหนาแข็งเป็นสีค่อนข้างดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้งสองข้าง ผิวฝักมีรอยแตก ฝักแก่จะแห้งแล้วไม่แตก เนื้อในของฝักเป็นสีขาวและแห้ง จะซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-40 เมล็ด[1],[2],[3]

รูปต้นกาฬพฤกษ์

ฝักกาฬพฤกษ์

  • เมล็ดกาฬพฤกษ์ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน เมล็ดอ่อนเป็นสีครีม ส่วนเมล็ดแก่เป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ผลกาฬพฤกษ์

เมล็ดกาฬพฤกษ์

สรรพคุณของกาฬพฤกษ์

  • เนื้อในฝักใช้เป็นยาแก้พิษไข้ (เนื้อในฝัก)[1]
  • เปลือกและเมล็ด ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน และเป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี (เปลือก, เมล็ด)[1],[3]
  • เนื้อในฝักใช้ปรุงรับประทานเป็นยาระบายอ่อน ๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึกไม่ไซ้ท้อง และระบายท้องเด็กได้ดีมาก โดยสามารถรับประทานได้ถึงครั้งละ 8 กรัม จะไม่ปวดมวนและไม่ไซ้ท้องเลย แต่ความแรงของยานี้จะสู้ต้นคูนไม่ได้ (เนื้อในฝัก)[1],[3],[4]

ประโยชน์ของกาฬพฤกษ์

  • คนสมัยก่อนจะใช้เนื้อในฝักกินกับหมาก[4]
  • เนื้อไม้และเปลือกมีสารฝาด สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนังได้[4]
  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป และจัดเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดบุรีรัมย์[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กาลพฤกษ์”.  หน้า 62.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [17 มิ.ย. 2015].
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [17 มิ.ย. 2015].
  4. สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี.  “กาฬพฤกษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จา ก: www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/pdf/Grandis.pdf.  [17 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng, Daniel Pérez, Camila Oliveira, Forest and Kim Starr, Zélia Doneux Rebske, Luísa Azevedo, Rukhacheat, Ahmad Fuad Morad, SierraSunrise)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด